Categories
2019 Everyday Blog daily discover experience

จดหมายจากบ้านยานากะ ปีเรวะที่ 1

“ขอบคุณพี่ติ๊กต่อกมากๆ เลย ที่ให้แตงมาอยู่ห้องนี้ต่อ เพราะมาอยู่ห้องนี้ แตงเลยได้เจอกับแฟน”

แตง หรือ หมอแตง พูดด้วยเสียงเพราะๆ ช้าๆ แบบที่แตงทำเป็นปกติตั้งแต่ครั้งแรกที่เจอกัน ฉันเจอแตงครั้งแรกที่บ้านยานากะ เพราะฉันต้องย้ายออก แล้วต้องหาคนมาเช่าต่อ แต่เงื่อนไขเชิงวัฒนธรรมของบ้านยานากะมันซับซ้อนน่ะ บ้านนี้เจ้าของบ้านเป็นคนญี่ปุ่น แต่ทั้ง 5 ห้องถูกครอบครองโดยคนไทยมาหลายต่อหลายรุ่น ชั้นล่างของบ้านเป็นห้องที่ผู้ชายสองคนอยู่ ชั้นบนมีสามห้อง และตามขนบที่ส่งต่อกันมา ก็ต้องเป็นผู้หญิงมาอยู่ต่อเท่านั้น (อันนี้คือขนบที่คิดกันเองน่ะนะ ไม่ได้เขียนเป็นลายลักษณ์อักษร)

ที่สำคัญ คนมาอยู่ต่อต้องทำสัญญาเช่าห้องอย่างน้อย 2 ปี

ฉันเจอแตง เพราะแตงซึ่งเป็นหมอ ดันลงเรียนวิชาเดียวกับเพื่อนคณะฉัน (ซึ่งฉันยังงงทุกวันนี้ว่าทำไมลงเรียนวิชาเดียวกันได้)
ลินด์เซย์ซึ่งเป็นคนฟิลิปปินส์เป็นคนแนะนำให้เราสองคนรู้จักกัน

แตงได้ทุนมาเรียนต่อเอก แต่ก็ต้องสอบอะไรสักอย่างให้ผ่านก่อนถึงจะได้เรียนเอกแบบเต็มตัว ระหว่างนั้นก็ถือว่าทำวิจัยไปพลางๆ พอรู้ว่าแตงมาต่อเอก ฉันก็โล่งไปเปลาะใหญ่ เพราะหมายถึงแตงต้องอยู่ที่โตเกียวอย่างต่ำ 3 ปีแน่ๆ … และแตงเป็นผู้หญิง (ใช่สิ) แถมแตงยังเป็นคนไทย (ใช่สิ) ไม่มีอะไรเข้าแก๊บไปกว่านี้ แตงคือผู้สืบทอดห้อง 203 ของบ้านยานากะ!

วันแรกที่เราเจอกัน แตงนั่งพับเพียบในห้อง แตงมากับน้องผู้ชายอีกคนที่เคยช่วยอาจารย์ที่ธรรมศาสตร์ทำวิจัย เราสามคนเลยคุยกันเรื่องอิสาน เรื่องเลยมาโป๊ะแตกว่า แตงเคยไปใช้ทุนเป็นหมอที่เขาวงด้วย … และเขาวงคือบ้านเกิดของฉันเอง

หลังจากนั้นฉันน่าจะได้เจอแตงอีกแค่ครั้งหรือสองครั้งนี่แหละ … แต่เหมือนเส้นด้ายแห่งโชคชะตาจะผูกพันเราไว้ย่อมๆ ทุกครั้งที่กลับมาโตเกียว ฉันมักแวะมาหาแตงเสมอ

ครั้งล่าสุดที่แวะมาหาแตง แตงก็พูดประโยคข้างบนสุดนั้นให้ฟัง ด้วยน้ำเสียงที่บ่งบอกถึงความขอบคุณอย่างสูง

บ้านยานากะที่พวกเราอยู่นั้น ตั้งอยู่ในเขตไทโตะ แต่เป็นปลายไทโตะที่ติดกับเขตบุนเคียวมากๆ มหาวิทยาลัยโตเกียว วิทยาเขตฮนโกะนั้นอยู่เขตบุนเคียว ฉันจำแม่นมากว่าตอนหาห้องพัก ติวเตอร์ที่มาดูแลฉันย้ำแล้วย้ำอีกให้หาห้องพักในเขตบุนเคียว เพราะจะได้ไม่ต้องยุ่งยากเรื่องการย้ายเขต แต่ด้วยความที่บ้านยานากะอยู่ปลายขอบของไทโตะ ฉันเลยเข้าใจผิดว่ามันอยู่บุนเคียว สุดท้าย…ก็เลยโดนติวเตอร์ตัวเองบ่นนิดหน่อย (เออ…แต่ตอนย้ายเข้าเขต ฉันไปทำเรื่องคนเดียวนี่นา ติวเตอร์ไม่ได้ไปด้วยซะหน่อย แล้วนางจะมีสิทธิมาบ่นอะไรมิทราบ เฮอะ)

กลับมาที่เรื่องแตงต่อ

ที่ต้องพูดถึงเขตไทโตะ เพราะการที่บ้านยานากะดันอยู่เขตไทโตะนี่แหละที่ทำให้แตงได้เจอกับแฟน ถ้าบ้านยานากะขยับมาอีกไม่กี่เมตร แล้วตกร่องปล่องชิ้นอยู่ในเขตบุนเคียวแล้วล่ะก็ เรื่องราวมันอาจเปลี่ยนเป็นอีกอย่างแหละมั้ง

เพราะอยู่เขตไทโตะ แล้วแตงอยากหาอะไรทำ แตงเลยไปสมัครเป็นสมาชิกชมรมยิงธนูของเขตไทโตะ ซึ่งฉันเคยเห็นแตงเขียนถึงในบล็อกอยู่ช่วงหนึ่งแหละไอ้การหัดยิงธนูนี่ แน่นอนว่าในชมรมยิงธนูที่แตงไป แตงได้เจอรุ่นพี่คนหนึ่ง ซึ่งเป็นคนที่ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับมหาวิทยาลัยโตเกียวที่แตงเรียนอยู่เลย แต่นั่นแหละ รุ่นพี่คนนี้ก็มาสอนแตงยิงธนูบ้าง และมีกิจกรรมร่วมกันบ้าง คุณต้องจินตนาการถึงชีวิตของคนในวัย 30 อัพสองคน ที่ต่างเชื้อชาติ และต่างภูมิหลัง แต่มีความชอบในการยิงธนูมาเชื่อมโยงกัน นั่นแหละเรื่องราวของแตง

ซึ่งเอาจริงๆ … ฉันก็ยังงงจนกระทั่งตอนนี้ ว่าแล้วมันเกี่ยวอะไรกับฉัน แล้วทำไมแตงต้องมาขอบคุณฉันด้วย

เหตุผล หรือจะเรียกว่า โชคชะตาที่ทำให้ฉันได้เจอกับแตง
กับเหตุผล หรือจะเรียกว่า โชคชะตาที่ทำให้แตงได้เจอกับแฟนนั้น ฉันคิดว่า มันไม่เกี่ยวกันหรอก

โชคชะตาของแตง ก็คือโชคชะตาที่แตงสร้างเอง และไม่เกี่ยวอะไรกับการย้ายมาอยู่ห้องนี้ต่อจากฉันทั้งนั้นแหละ

แต่ฉันก็ยังดีใจที่เราได้เจอกัน

การกลับไปบ้านยานากะและได้เจอแตงอีกครั้ง ถือเป็นหนึ่งในโมเม้นท์ที่ดีที่สุด ของปีเรวะที่ 1 ของฉันเลยล่ะ

สวัสดีเรวะ
เจอกันเสียที
ฝากเนื้อฝากตัวด้วยนะ

โตเกียว, ฤดูฝน, ปีเรวะที่ 1

y

Categories
2019 Everyday Blog experience Seen Thought Uncategorized

บาห์เรน – When life gives you lemon, then makes lemonade

 

 

bahrain

 

 

ฉันเคยเขียนไว้ในอีกเพจหนึ่งชื่อ ทองหล่อเดินได้ – walkable Thonglor ว่า “ขณะที่โลกบอกให้เราออกเดินทาง แต่สารภาพว่าฉันเป็นคนที่หลงรักคอมฟอร์ตโซนอย่างสุดใจ”

ฉันหมายความอย่างนี้จริงๆ
และยิ่งโต ฉันก็ยิ่งตระหนักว่า ฉันไม่ได้รักการเดินทาง และฉันรักความสบายมากกว่าความลำบาก

ฉันไม่เคยอยากออกไปจากคอมฟอร์ตโซน … และการนั่งไถมือถืออ่านจอยลดา และรอเอ็มวีใหม่ WayV ก็ไม่เห็นจะแย่อะไรนี่นา

แต่โลกก็มีทั้งสิ่งที่เราเลือกได้ และเลือกไม่ได้

หลังอายุเต็ม 38 ปีได้ไม่กี่วัน ฉันได้ไปที่บาห์เรน-โดยไม่คาดคิด

นี่คือสิ่งที่ฉันในวัย 38 เจอ เมื่อเดินออกจากคอมฟอร์ตโซน
.
.

1. การตกเครื่องบินตอนเที่ยงคืน
ในชีวิตนี้ฉันเคยตกเครื่องบินมา 1 ครั้งถ้วน – ช่วงปีใหม่ที่จะไปพม่า – ในยุคที่อองซานซูจียังถูกคุมขัง และคนไทยยังต้องขอวีซ่าเข้าประเทศฝั่งตะวันตกของเรา คราวนั้นฉันตกเครื่องที่สุวรรณภูมิ ทางแก้คือควักเงินซื้อตั๋วเครื่องบิน (ช่วงปีใหม่) ใบใหม่สิ … เงินอาจไม่ใช่สิ่งสวยงามที่สุดในโลก แต่หลายๆ ครั้ง เงินแก้ปัญหาให้เราได้

แต่คราวนี้ ฉันตกเครื่องและติดแหงกที่บาห์เรนอยู่เกือบ 24 ชั่วโมง

ถ้าเราอยู่ในโลกที่เวลาเป็นเงินเป็นทอง และการเป็นคนเก่งคนเก๋ของโลกยุคใหม่คือการบริหารเวลาและพลังชีวิตได้ “efficient สูงสุด” … การตกเครื่องและนั่งแหงกอยู่เกือบ 24 ชั่วโมง คงหมายถึง “แกมันเป็นคนแย่ แกมันจัดการชีวิตไม่ดี” แน่ๆ

ฉันเอามือปิดหน้า ตอนที่เจ้าหน้าที่บอกว่า ฉันตกเครื่องแน่ๆ แล้ว … เครื่องบินลำที่จะต่อไปปารีสอยู่ตรงหน้าแล้วแท้ๆ แต่ฉันทำอะไรไม่ได้มากกว่ามองมันค่อยๆ เคลื่อนที่จากไป

“เครื่องดีเลย์ตั้งแต่ต้นทาง ไม่ใช่ความผิดฉันซะหน่อย”
“ใช่ ไม่ใช่ความผิดคุณ”

อย่างน้อยที่สุด คนไทยอย่างฉันก็ไม่ต้องขอวีซ่าเพื่อเข้าบาห์เรน – พวกเขาจัดหาโรงแรมและอาหาร 3 มื้อให้ – ฟรี – แลกกับการตกเครื่องและต้องใช้ชีวิตล่าช้าไปอีกหนึ่งวัน

เป็นหนึ่งวัน ที่โลกจะเปลี่ยนจากยุคเฮย์เซย์ เป็นยุคสมัยเรวะ

ฉันอยู่ที่นั่น ที่เมืองหลวงของบาห์เรนที่ชื่อ มานามา
.
.
.
.

2.ในตอนเที่ยงคืนที่ฉันรู้สึกเหมือนอยากร้องไห้ ฉันหันไปเห็นรอยยิ้มและเสียงหัวเราะของคนไทยกลุ่มหนึ่งที่เป็นเพื่อนร่วมไฟล์ท พวกเขาตั้งใจมาต่อเครื่องไปซาอุดิอาระเบีย เครื่องเต็ม และพวกเขาก็ต้องติดแหงกอยู่ที่บาห์เรนกับฉันเช่นเดียวกัน

ดูไม่ทุกข์ไม่ร้อน ไม่มีเสียงร้องฟูมฟาย ไม่มีเสียงด่าทอ ไม่มีอาการหงุดหงิดอะไรทั้งนั้น

ฉันค้นพบ ณ ตอนนั้น ว่าไม่ว่าฉันจะหงุดหงิดไปอีกกี่มากน้อย มันก็เปลี่ยนความจริงที่ว่า ฉันตกเครื่องไม่ได้ – ฉันต้องอยู่ที่นี่ ต้องนอนที่บาห์เรนคืนนี้ – ในวันสุดท้ายของยุคสมัยเฮย์เซย์

“When life gives you lemon, make lemonade.”
คือสุภาษิตฝรั่งที่บอกเราว่า เมื่อเวลาที่ชีวิตยื่นอะไรที่เราไม่ได้เลือกมาให้ เราก็แค่ต้องหาแง่งามของมันให้เจอ

ถ้าชีวิตเขวี้ยงมะนาวใส่ เราก็แค่ต้องเอามะนาวมาคั้นทำชามะนาวสิโว้ย!

ยิ้ม-นอน-กินข้าว-ฟังเรื่องเล่าแสวงบุญของเหล่าน้าๆ ที่ยอมจ่ายเงินคนละ 6หมืนมาแสวงบุญถึงซาอุดิอาระเบีย

“น้าเป็นผู้ใหญ่บ้านที่ยะลา ถ้าไปยะลาก็ไปถามหาน้านะ นี่เบอร์โทร และทุเรียนยะลาอร่อยมาก อย่าลืมไปหาทาน”

น้าผู้ใหญ่ชื่อ ยูซุก และแฟนน้าชื่อ สะเมาะ

“รู้จักร้านสินธรสเต๊กเฮ้าส์ไหม น้าเป็นเจ้าของ ถ้ามากินก็ขอส่วนลดได้” น้าอีกคนบอก

“นี่บ้านอยู่เอกมัย มาเยี่ยมได้” – อ้อ บ้านใกล้เรือนเคียงกับทองหล่อเลย

ทุกคนดูไม่ทุกข์ไม่ร้อน
ทุกคนดูรับได้กับการต้องตกเครื่อง
ทุกคนดูจะเข้าใจว่ามันเกิดขึ้นได้
ทุกคนดูจะเข้าใจว่าการจากบ้านมาแสวงบุญมันต้องเจอกับความลำบากและสิ่งที่ควบคุมไม่ได้อยู่แล้ว

นั่นน่าจะเป็นครั้งแรกสุด ที่ฉันเลิกตั้งคำถาม ว่าทำไมหลายคนต้องยอมลำบากเพื่อความศรัทธาบางอย่างด้วย

ทำไมเราต้องออกจากคอมฟอร์ตโซนเพื่อมาลำบากด้วย
.
.
.

3.คนปากีสถานคนนั้นอยู่ฝรั่งเศส

น้าคนไทยกลุ่มนั้นจากไปซาอุฯ ตั้งแต่ตอนเที่ยง คนที่ยังอยู่กับฉันที่โรงแรมคือคนปากีสถานคนหนึ่ง ฉันถามเขาว่าเขาตกไฟล์ทบินไหน เขาบอกว่า “แฟรงเฟิร์ต”
“อ้อ เยอรมนี” ฉันพยักหน้า
“แต่ผมอยู่ฝรั่งเศส” เขาบอก
ฉันคงเผลอทำหน้างงใส่
“เมืองที่ผมอยู่ อยู่ติดเยอรมัน ผมเลยบินลงแฟรงเฟิร์ตและนั่งรถไฟเข้าไป”
“อ้อ” ฉันพยักหน้าอีกรอบ

ก่อนหน้านี้ ฉันคงเก็บไปสงสัยบนเครื่องว่า
…ทำไมคนปากีฯ ไม่อยู่ปากีฯ
…ทำไมคนเราต้องออกจากบ้านไปอยู่ที่อื่น
…ทำไมคนเราต้องเดินออกจากคอมฟอร์ตโซน

ฉันโบกมือลาหนุ่มปากีฯ
ไม่มีคำถาม
ไม่มีข้อสงสัย
บางทีฉันอาจเหนื่อยเกินไป
เพราะทันทีที่ขึ้นเครื่องก็นอนหลับยาวเลย

การออกจากคอมฟอร์ตโซนมันเหนื่อย
แต่ถ้าเจอมะนาวหล่นข้างทาง
อย่าลืมหยิบมาคั้น
ชงชามะนาวสักแก้ว…ก็ดีอยู่นะ
.
.

ฉันคิดในใจก่อนเปลือกตาจะปิดลง

 


ไม่ค่อยได้อัพบ่อย แต่ถ้าอ่านแล้วชอบ ฝากแชร์ด้วยนะคะ
หรือติดตามได้ช่องทางอื่น

blog: deartiktok.wordpress.com
fb.me/deartiktok
twitter.com/tiktokthailand
instagram.com/tiktokthailand

Categories
2019 Everyday Blog Challenge experience Uncategorized

03.01.19 : Reconsider New Year’s Goals

reconsider.001

 

ปี 2019 ผ่านมาได้แค่ 3 วัน แต่ฉันก็รู้สึก freak out กับ New Year’s Goals ของตัวเองแล้ว

ปีนี้ฉันตั้งใจอยากทำอะไรหลายสิ่งอย่างเลย ทั้งการวิ่ง full marathon, เขียนบล็อกทุกวัน, งดเล่นมือถือช่วงกินข้าว, เขียนต้นฉบับ “โตได ไม่โรแมนติก (Depressive Todai)” จบก่อน 30  เมษายน, ทำสารคดีส่ง TPBS, ทำแชนแนล YouTube, เขียนแฟนฟิกชั่น, หัดเขียนมือซ้าย, หัดท่าโยคะท่ายากที่อยากหัดมานาน, เรียนว่ายน้ำ,​ เรียนเต้น,​ และเรียน Voice Training

แต่ช่วงสามวันนี้ สิ่งที่ฉันได้ลงมือทำไป มีแค่ งดเล่นมือถือตอนกินข้าว, การวิ่ง และการเขียนบล็อก เท่านั้น

ฉันยังไม่ได้เริ่มต้นเขียนต้นฉบับ “โตได ไม่โรแมนติก (Depressive Todai)” เลย ทั้งที่กำหนดที่ตั้งใจไว้คือ 30 เมษายน

ฉันยังไม่ได้เริ่มเขียนสคริปต์สารคดีเลย (จริงๆ คือคุยกับ Subject (ตัวหลักในสารคดี) ไปแล้ว 2 รอบ) และยังไม่ได้นัดคิวช่างภาพวิดีโอ รวมถึงนัดคิว Subject อีกรอบ ทั้งที่ก่อนสิ้นปีคือตั้งใจอยากถ่ายทำให้เสร็จและตัดต่อพร้อมส่งก่อน 28 กุมภาพันธ์ ด้วยซ้ำ

ไม่พูดถึงแชนแนล YouTube ที่ฉันยังไม่ได้วางแผนธีมที่อยากทำเลย

อยู่ๆ ฉันก็คิดขึ้นมาได้ว่า เพราะฉันยังไม่ได้จัดลำดับความสำคัญ​ ทั้งยังไม่ได้ตั้ง deadline ให้แต่ละเป้าหมายเลย

ฉันคิดขึ้นมาลอยๆ ว่าทุกเป้าหมายมีเวลา “ตั้ง 1 ปี” แน่ะ ทั้งที่จริงๆ แล้ว เป้าหมายบางอย่าง ควรทำให้สำเร็จเร็วกว่านั้น (จริงๆ ต้นฉบับควรเสร็จภายใน 31 มีนาคม ด้วยซ้ำ)

วันนี้ฉันใช้เวลาระหว่างวิ่ง คิดทบทวน และพบว่า ถึงเวลาต้องจัดระเบียบเป้าหมายใหม่เสียแล้ว

“แบ่งเป้าหมายออกเป็นไตรมาส”

ใช่แล้วล่ะ เป้าหมายแต่ละอย่างมี deadline และความเข้มข้นไม่เท่ากัน มีเป้าหมายบางอย่างที่ควรเสร็จลุล่วงภายใน 31 มีนาคม นี้ หรืออย่างน้อย ก็ควรใกล้เคียงกับคำว่า “done” มากที่สุด

ไตรมาสที่หนึ่ง : มกราคม – มีนาคม

ไตรมาสแรกของปีสำคัญที่สุด เพราะถ้าฉันรักษาวินัยไม่ได้ มันจะทำลายขวัญและกำลังใจฉันไปทั้งปี พอคิดอย่างนี้ เป้าหมายที่ควรบรรจุในช่วง 3 เดือนนี้ จึงควรเป็นสิ่งที่ฉันอยากทำมากๆ และก็รักมากๆ พอกัน ซึ่งนั่นก็คือ

1.เขียนต้นฉบับ “โตได ไม่โรแมนติก (Depressive Todai)”

ถ้าคิดว่า ต้นฉบับหนึ่งๆ ควรมีความยาว 100 หน้า A4 ในช่วง 90 วันนี้ (สามเดือน) ฉันควรเขียนต้นฉบับให้ได้อย่างน้อยวันละ 1 หน้ากับอีกนิดหน่อย แต่เอาเข้าจริงแล้ว บางวันถ้าตั้งใจเขียนก็คงได้มากกว่า 1 หน้า (วันที่เขียนลื่นมาก) และบางวันคงเขียนไม่ออกเลย

ฉันเลยตั้งใจว่า งั้น สัปดาห์นึง เขียนให้ได้ 10 หน้าแล้วกัน

เป้าหมาย: เขียนให้ได้สัปดาห์ละ 10 หน้า

2.สารคดี TPBS

ปีนี้ ฉันอยากทำ 3 สารคดี 3 ชิ้น การแบ่งเป็นไตรมาส ก็ช่วยให้โฟกัสกับแต่ละชิ้นได้เป็นอย่างดี (ข้อดีของมันสินะ)

สารคดีชิ้นแรก ฉันใช้ชื่อคร่าวๆ ว่า “ความฝันของจีนใหม่ในกรุงเทพฯ” ฉันมี Subject หรือตัวละครหลักที่จะถ่ายทำแล้ว แต่ภารกิจใหญ่จริงๆ คือฉันต้องแตกย่อยสคริปต์คร่าวๆ และนัดหมายถ่ายทำอีกสัก 3 ครั้ง โดยแบ่งเป็น สัมภาษณ์ 1  ครั้ง, ถ่ายเก็บชีวิตการงาน 1 ครั้ง, ถ่ายเก็บชีวิตกับเพื่อนฝูง 1 ครั้ง

ถ้าอยากให้แล้วเสร็จภายในเดือนกุมภาพันธ์ ก็หมายความว่า ฉันน่าจะเริ่มนัดคิวแรกสุด ไม่เกินสิ้นเดือนนี้ และควรนัดคิวที่ 2 และ 3 ภายในเดือนกุมภาพันธ์

ก่อนจะใช้เวลาตัดต่อในเดือนมีนาคม

เป้าหมาย: เตรียมสคริปต์, นัดคิวถ่าย 3 คิว, และตัดต่อเพื่อนำเสนอ ภายใน 31 มีนาคม

 

3.แชนแนล YouTube

เหตุผลที่ฉันอยากทำ YouTube มี 2 อย่าง คือ ฉันเป็นคนชอบเล่าเรื่อง จึงอยากหันมาเล่นสนุกผ่านแพลตฟอร์มวิดีโอลองดู กับอีกอย่างคือ … ฉันอยากหารายได้จากการเล่าเรื่องด้วย

แน่นอนที่สุด เทรนด์วิดีโอกำลังมา แม้ปีนี้คนจะกระโจนมาเป็น YouTuber มากขึ้น แต่แนวโน้มการทำรายได้จากวิดีโอนั้นยังมีอยู่ ที่เห็นได้ชัดคือการที่ Facebook เปิดให้เมืองไทยทำรายได้ผ่าน video content แล้ว

มีคนบอกเสมอ ว่าฉันเล่าเรื่องใช้ได้ … เอาเข้าจริงฉันไม่ได้มั่นใจกับการออกหน้ากล้องหรอก และแชนแนล YouTube ที่จะทำ ฉันก็ไม่ได้จะเป็นคนเบื้องหน้าด้วย ที่วางแผนกับทีมงานอีกคนไว้ คือฉันเป็นโปรดิวเซอร์และทำทุกอย่างหลังกล้อง ส่วนอีกคนจะอยู่หน้ากล้อง

อืม…ความยากของมันคือ ฉันยังไม่ได้เตรียมธีมของแชนแนลให้ดีนี่แหละ

การทำแชนแนล YouTube หรือ video content  ให้ประสบความสำเร็จมีหลายปัจจัย และฉันมองว่า ถ้าฉันทำการบ้านและตีโจทย์ให้แตกก่อน เราจะไม่ทำวิดีโออย่างสะเปะสะปะเกินไปนัก

อีกอย่างที่ถือเป็นปัจจัยของความสำเร็จ คือ ความสม่ำเสมอ เราควรผลิต video content ให้ได้สัปดาห์ละ 1 ครั้งเป็นอย่างน้อย ยิ่งเป็นช่องใหม่ ความถี่ยิ่งจำเป็น แต่ว่าข้อนี้ก็ชวนให้กังวลมาก เพราะทีมงานอีกคนของฉันอยู่ต่างจังหวัด และเรา (น่า) จะเจอกันเดือนละครั้งเท่านั้น

อืม…หนทางนี้ดูยากจัง แต่ว่า ขอตั้งเป้าหมายไว้หน่อยแล้วกัน ว่าฉันจะทำคลิป (แม้จะสะเปะสะปะก็ตาม) อัพให้ได้ทุกสัปดาห์

ต้องติด hashtag #สู้โว้ย เลยไหม?

เป้าหมาย:  อัพคลิป YouTube สัปดาห์ละครั้ง

 

 

4.อื่นๆ

อืม…​พอเจอเป้าหมาย 3 อย่างนี้ ฉันก็เริ่มลังเลกับการเขียนบล็อกทุกวันแล้วสิ (อย่าเพิ่งว่ากันนะ)

การเขียนบล็อก ปกติจะเอาเวลาในชีวิตฉันไปราวๆ 1 ชั่วโมง ซึ่ง 1 ชั่วโมงนี้ ฉันควรจะเอาไปเขียนต้นฉบับไหมนะ?

คิดอย่างนี้ได้ สารภาพเลยว่าเกิดความลังเลไม่น้อย

แต่ไม่เป็นไร สัปดาห์แรกนี้ ฉันจะยังทดลองเขียนบล็อกทุกวันไปก่อน พอๆ กับที่จะรักษาวินัยในการวิ่งให้ได้อย่างน้อยสัปดาห์ละ 5 วัน (รวมระยะ 25 กิโลเมตร ต่อสัปดาห์) รวมทั้งยังคงงดเล่นมือถือตอนกินข้าว

สิ่งเหล่านี้ไม่ถือเป็นเป้าหมายของไตรมาส แต่เป็นสิ่งที่ฉันอยากทำให้ได้ทุกวัน เหมือนการกินกาแฟ หรือการกินข้าว

และหวังว่ามันจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตจนได้นะ!

 

สามารถกดติดตามหรืออัพเดทเรื่องจิปาถะอื่นๆ ได้ทาง

fb.me/deartiktok

twitter.com/tiktokthailand

IG: tiktokthailand

Categories
2019 Everyday Blog daily discover experience

02.01.19 : วิถีใหม่ของการอ่าน (รีวิวการอ่านของตัวเอง)

บล็อกที่ 2 ของปี 2019 ก็ยังมาดึกเช่นเคย (จริงๆ ตอนโพสคงเลยเที่ยงคืนไปแล้ว แต่ขออนุญาตนับเป็นบล็อกของวันที่ 2 มกราคม นะคะ)

 

วันนี้จะมารีวิวพฤติกรรมการอ่านที่เปลี่ยนไปของตัวเองค่ะ

ช่วงครึ่งปีหลัง เป็นช่วงที่ตัวเองปรับพฤติกรรมอ่านไป พฤติกรรมในที่นี้ หมายถึงสถานที่และเวลาที่เลือกอ่านค่ะ

ครึ่งหลังของปี เราอ่านหนังสือเวลาเดินทางไปทำงานมากขึ้น เนื่องจากเลิกขับรถแล้ว (เพราะมีปัญหาที่จอดรถ) เลยต้องใช้ขนส่งสาธารณะ คือ เรือคลองแสนแสบ + รถไฟฟ้าใต้ดิน โดยช่วงที่โดยสารรถไฟฟ้าใต้ดินนี้เอง ถือเป็น Prime Time ที่ทำให้เราอ่านหนังสือจบหลายเล่มเลย

เช้าและเย็นวันจันทร์ถึงศุกร์ เราจะมีเวลาอยู่บนรถไฟใต้ดินเที่ยวละประมาณ 15 นาที ไปกลับใน 1 วัน ก็แค่ 30 นาทีเอง แต่แค่ 15 นาทีนั้น บางทีเราก็อ่านหนังสือ (วรรณกรรม) บางเล่ม จบไปหนึ่งบทเลยทีเดียว

หนังสือที่จดจำว่าอ่านในรถใต้ดินปีที่ผ่านมา คือ “สู่อนันตกาล: ชีวิตฉัน และสตีเฟ่น ฮอว์กิ้ง” (Travelling to Infinity: My Life with Stephen” ที่เขียนโดย เจน ฮอว์กิ้ง ภรรยาคนแรกของสตีเฟ่น ฮอว์กิ้ง

หนังสือเล่มนี้หนากว่า 600 หน้า แถมเราอ่านเล่มนี้ต่อจากเล่มซีไรต์ของพี่แหม่ม วีรพร นิติประภา (พุทธศักราชอัสดงกับทรงจำของทรงจำของแมวกุหลาบดำ) ซึ่งเล่นกับสำบัดสำนวนประหนึ่งบทกวี พออ่านเล่มของ เจน ฮอว์กิ้ง ที่ใช้ภาษาในโทนเรียบมากๆ แถมยังหนา 600 กว่าหน้า ตอนแรกก็เกรงว่าจะอ่านไม่จบเหมือนกัน

แต่พอผ่านพ้นช่วงแรกไปได้ ก็พบว่า เป็นหนังสืออีกเล่มที่อยากแนะนำให้คนอ่านจริงๆ ค่ะ (ไว้จะหาเวลามารีวิววันหลัง)

 

อีกเล่มที่จดจำได้ดี เป็นเล่มที่ทำให้รักทุกวินาทีที่อยู่บนรถไฟใต้ดิน (เพราะเป็นช่วงที่ได้หยิบหนังสือมาอ่าน) คือ Call Me By Your Name ของ André Aciman (รู้สึกว่าจะออกเสียงว่า อังเดร อาซิมัน)

เราได้ดูหนังมาก่อนจะอ่านหนังสือเล่มนี้ เราชอบเวอร์ชั่นหนังมาก แต่ต้องยอมรับว่า เรารักเวอร์ชั่นหนังสือที่สุด และไม่แปลกใจเลย ที่หนังสือเล่มนี้ได้กลายเป็นหนังสือในดวงใจของหลายๆ คน

คนที่เคยได้ยินชื่อเสียงของ Call Me By Your Name มาบ้าง คงพอรู้ว่าเป็นเรื่องราวความรักของคนคู่หนึ่งที่พบกันในช่วงฤดูร้อน โดยเป็นความรักของชายหนุ่มกับเด็กหนุ่ม แต่จริงๆ เรื่องราวที่อาซิมันถ่ายทอด มันตราตรึงและสัมผัสใจคนได้ทุกคน เพราะเขากำลังพูดถึงรักแรก การดำรงอยู่ พร้อมการแตกสลายของมัน  … ซึ่งมันเป็นสิ่งที่แทบจะเรียกได้ว่า เป็นสากล

ขอพูดถึง Call Me By Your Name แต่เพียงเท่านี้ก่อน เพราะอยากให้พื้นที่กับการพูดถึงพฤติกรรมการอ่านที่เปลี่ยนไปของตัวเอง

ในช่วงที่เปลี่ยนวิถีการเดินทาง จากขับรถมาใช้ขนส่งสาธารณะนั้น เราพบว่า เรามีเวลาอ่านหนังสือมากขึ้น แถมเรายังชอบอ่านตอนเดินทาง มากกว่าตอนอยู่ในห้องพักเสียอีก

เวลาอยู่ห้องพัก เรามักจะหมดเวลาไปกับการไถมือถืออ่านแฟนฟิกชั่นในแอพ Joylada หรือไม่ก็ Dek-D (นิยาย) เสียมากกว่า

เราค้นพบว่า แม้เราจะใช้เวลาอยู่ในห้องพักนานกว่าเวลาที่เดินทางโดยรถไฟใต้ดินอีก (อยู่บนรถไฟฟ้าใต้ดินแค่วันละ 30 นาทีเอง) แต่เวลาที่อยู่ในห้อง มันไม่ชวนเชิญให้อยากอ่านเลย นั่นเพราะเมื่อเรารู้สึกว่า เราอยู่คนเดียว มันชวนขี้เกียจอย่างไรชอบกล ขี้เกียจมากจนอยากทำแค่ไถมือถือเท่านั้นเอง (แอบนิสัยไม่ดี)

กลับกัน เวลาอยู่ข้างนอก พอเราแอบตั้งกฎให้ตัวเอง ว่าจะอ่านหนังสือเวลาโดยสารรถใต้ดิน พอเข้าไปรถไฟใต้ดินแล้ว ถ้าเราหยิบมือถือขึ้นมา เราจะรู้สึกผิดกับตัวเองมากๆ แถมพอมองๆ ไป ส่วนใหญ่ทุกคนก็หยิบมือถือมาไถอยู่แล้ว การที่เราค่อยๆ หยิบหนังสือสือขึ้นมาจากกระเป๋า ค่อยๆ ใช้มือบรรจงพลิกหน้าทีละหน้า พร้อมกับที่ประคองตัวเองให้ยังยืนทรงตัวและอ่านหนังสือไปด้วยกันได้ มันเป็นจังหวะที่รู้สึกดีกับตัวเองมาก และแอบสังเกตว่า เวลาหยิบหนังสือขึ้นมาอ่าน คนจะแอบหันมามองเช่นกัน

เวลาที่อ่านหนังสือจบเล่มบนรถไฟใต้ดิน ก็จะรู้สึกฟินมากๆ เหมือนกับได้ทำภารกิจบางอย่างสำเร็จแล้ว

การค้นพบช่วงเวลาที่เหมาะสมกับการอ่านหนังสือในแต่ละวัน (ของเราคือเวลาเดินทาง บนรถไฟใต้ดินขบวนที่ไม่แออัดนัก) ถือเป็นโมงยามหนึ่งที่ทำให้เรารู้สึกดีกับตัวเอง และทำให้เรากลายเป็นคนชอบช่วงเวลาสั้นๆ 15 นาทีนั้น

ชอบจนถึงขั้นเรียกว่า “โหยหา” เลยทีเดียวล่ะ

 

แล้วคุณล่ะคะ อ่านหนังสือช่วงเวลาไหนกันบ้าง?

 

สามารถกดติดตามหรืออัพเดทเรื่องจิปาถะอื่นๆ ได้ทาง

fb.me/deartiktok

twitter.com/tiktokthailand

IG: tiktokthailand

Categories
daily discover experience Thought

[blog] 3 ปี 3 เดือนหลังเรียนจบ – จับจองที่นั่งของคุณให้ดี เพราะพลุไฟใกล้จะเริ่มต้นแล้ว

IMG_2180

“จับจองที่นั่งของคุณให้ดี เพราะพลุไฟใกล้จะเริ่มต้นแล้ว”

(1)

“การเลือกเส้นทางชีวิตก็เหมือนการเลือกจับจองที่นั่งเพื่อดูพลุไฟในช่วงเทศกาลฮานาบิแหละมั้ง”
อยู่ๆ ฉันก็คิดในใจขึ้นมา แต่พอคิดออกมาแล้วก็ดันเขิน เพราะมันดูเหมือนคำคมห้าบาทสิบบาท ที่ไม่มีอะไรโยงใยกับชีวิตจริงได้เลย

เราต่างหวังให้ชีวิตเรียบง่าย, แต่มันก็มักจะลงท้ายด้วยความซับซ้อนเสมอ…ไม่รู้ทำไมเหมือนกัน

5 ปีก่อน ฉันเลือกไปเรียนต่อปริญญาโทที่ญี่ปุ่น ด้วยความมุ่งมั่นว่าจะกลับมาเป็นอาจารย์ใกล้บ้าน, บ้านที่อยู่ห่างไกลจากกรุงเทพฯ ราวๆ 700 กิโลเมตร,
แต่เรื่องจริงคือ ตลอด 3 ปี 3 เดือนหลังเรียนจบและรับใบปริญญามา – ฉันไม่เคยได้เป็นอาจารย์ใกล้บ้านเลย

1 ตุลาคม 2015 ฉันเริ่มอาชีพแรกหลังเรียนจบปริญญาโท (แต่ตอนนั้นอายุก็เลยเลข 3 มาแล้ว) ในองค์กรของรัฐแห่งหนึ่ง ฉันไม่ได้รับราชการ แต่มันเป็นองค์กรที่ฉันหวังว่าจะได้เรียนรู้ และได้พาตัวเองเข้าใกล้งาน Public Policy หรือนโยบายสาธารณะ อย่างที่เรียนมาในชั้นเรียนปริญญาโทให้ได้มากที่สุด

ถ้าฉันยังกลับไปทำงานใกล้บ้าน (นอก) ไม่ได้ ฉันก็หวังแค่ว่า อยากใช้ความรู้ความสามารถทำงานในองค์กรที่สร้างผลกระทบต่อชีวิตของผู้คนให้ได้ แม้จะเป็นเสี้ยวเล็กๆ ก็ตามที

ฉันอยู่ที่นี่แค่ 6 เดือน ก็มีโอกาสอื่นหยิบยื่นมาให้, แม้ตัวเลข 6 เดือนจะแสนสั้น แต่เมื่อมองย้อนกลับไป ฉันมักบอกคนอื่นๆ เสมอว่า ไม่ว่าแนวคิดขององค์กรนี้จะเป็นอย่างไร ไม่ว่าตัวองค์กรจะถูกตั้งคำถามจากสังคมแค่ไหน แต่ฉันได้เรียนรู้อะไรเยอะมากตลอด 6 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการเรียนรู้สิ่งใหม่เกือบหมดเลย

10 ปีก่อนหน้านี้ ฉันอยู่ในธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์ และเอาเข้าจริง ฉันเป็นคนที่กระโจนเข้าสู่ธุรกิจสิ่งพิมพ์โดยไม่คิดหวังความก้าวหน้าเลย ตลอดชีวิตการทำงานของฉัน หวังสิ่งเดียวเท่านั้น คืออยากออกหนังสือให้ได้สักเล่ม (ตลอดวัย 20s ฉันไม่เคยเรียกร้องเงินเดือนขึ้น ไม่เคยร้องหาโบนัส และไม่เคยขอปรับตำแหน่งให้สูงขึ้นเลย ฉันมีแค่ความฝันเดียว คืออยากออกหนังสือเท่านั้น)

ตัดกลับมาที่ปี 2015 ณ องค์กรแห่งนั้น, ฉันได้เรียนรู้การจับใจความตอนเราเข้าประชุม (มีประชุมเยอะมาก), ฉันได้เรียนรู้การย่อยข้อมูลยากๆ และถ่ายทอดออกมาให้ง่ายๆ และโดนใจ, ฉันได้เรียนรู้ว่า “สาร” บางสาร ถ้าสื่อออกมาอย่างถูกต้องและถูกเวลา มันก็เปลี่ยนแปลงอะไรได้

ฉันได้เรียนรู้การใช้ Google Calendar เพื่อการทำงานครั้งแรกก็ในตอนนั้น (ตลอดทั้งชีวิตไม่เคยคิดใช้มันเลย)

แต่เพราะลึกๆ แล้วฉันอยากออกไปทำงานต่างจังหวัด “กรุงเทพฯ ไม่ใช่ประเทศไทย” คือประโยคที่ฉันมักจะพูดกับเพื่อนสนิทเสมอ ฉันคิดว่าถึงแม้เราจะเป็นคนทำงานที่ตั้งใจดีขนาดไหน แต่ถ้าเราไม่เคยได้ออกไป…เห็นอย่างที่มัน (น่าจะ) เป็น เราอาจเป็นแค่คนพยายามขีดเส้นนั่นนี่แล้วเรียกมันว่า “เทรนด์” โดยที่จริงๆ แล้วมันอาจไม่ได้สะท้อนชีวิตจริงของคนอีกครึ่งประเทศก็ได้

(2)

29 มีนาคม 2016 ฉันย้ายไปอยู่อีกองค์กรที่ให้โอกาสทำงานในพื้นที่อีสาน, เงินน้อยลง (มาก) และเนื้องานก็เปลี่ยนไปเรื่อยๆ ตามแต่สถานการณ์ อธิบายอย่างเรียบง่ายคงต้องบอกว่าทำงานเป็น “เจ้าหน้าที่ชุมชน” แต่นั่นแหละ พอจะลงรายละเอียดในเนื้องาน ก็พบว่าคงไม่อาจระบุ Job Description ได้ชัดเจน

หลายคนที่ได้ข่าวจากฉันในตอนนั้น คงพอจำได้ว่าฉันไปอยู่วัด วัดที่ช่วงกลางวันของวันจันทร์ถึงศุกร์ จะมีผู้ต้องขังจากเรือนจำมาทำงานอาสาในวัด ชีวิตช่วงนั้นของฉันเป็นช่วงที่ได้ผูกมิตรกับ ผู้คุมเรือนจำ, ผู้ต้องขัง, นายก อบต., ผู้ว่าราชการจังหวัด, ปลัดอำเภอ, กำนันผู้ใหญ่บ้าน, เกษตรกรไร่มัน, เกษตรกรสวนอ้อย, เกษตรกรนาอินทรีย์, แม่ออก (หมายถึงคนที่มาทำบุญกับวัด), เศรษฐีต่างจังหวัด, ทหารเกณฑ์ที่สุดท้ายก็ปฏิเสธสิ่งดีๆ ในชีวิต แล้วเลือกเดินบนเส้นทางอื่น, เด็กมัธยมปลายที่มุ่งหวังอยากเข้าทำงานที่ Google, รวมถึงกลุ่มเด็ก “บอร์ด” หรือแก๊งสเก็ตบอร์ด ในตำนานของฉัน (ฉันเริ่มเล่นสเก็ตบอร์ดครั้งแรกในชีวิตตอนเข้าแก๊งค์นี้)

ชีวิตในจังหวัดที่ว่ากันว่า “ยากจนที่สุด” จังหวัดหนึ่งของเมืองไทย เป็นชีวิตที่สอนอะไรฉันมากมายเช่นกัน ฉันได้เข้าใกล้ความเป็นไทย (อีสาน) มากอีกนิด ฉันได้เข้าใจอย่างลึกซึ้งว่าคำว่า “ระบบอุปถัมภ์” ที่อยู่ใน text book ของเด็กรัฐศาสตร์หน้าตาเป็นอย่างนี้เอง ฉันได้เข้าใจว่า “วัด” สำคัญกับชุมชนอย่างไร และมากเพียงไหน, ฉันเข้าใจคำว่า “บารมี” ที่แฝงฝังอยู่ในสังคมไทย – ฉันเห็นงบประมาณประเทศที่หล่นโปรยลงมาในพื้นที่ และพบคนรุ่นใหม่ที่ตั้งใจดีอีกมาก แต่ก็ค้นพบเช่นเดียวกันว่า – ระบบราชการในประเทศนี้ “เฮงซวย” ขนาดไหน (ขอเน้นคำว่า “ระบบ” ไม่ได้เน้นที่คำว่า “คน” )

1 ปี กับอีก 2 เดือน ฉันก็จากลาที่นั่น, ลาจากพื้นที่ซึ่งสอนฉันมากมายเหลือเกิน เกี่ยวกับความเหลื่อมล้ำที่ฝังรากอย่างยาวนานในประเทศนี้

(3)
1 มิถุนายน 2017 – เรียกได้ว่าเป็นวันแรกที่ฉันได้เริ่มต้นใหม่กับกรุงเทพฯ อีกครั้งอย่างแท้จริง

ไม่ว่าจะรักหรือชัง แต่ต้องยอมรับว่า กรุงเทพฯ คือ Comfort Zone ด้านอาชีพการงานของฉัน

ฉันกลับมาสู่อาชีพเดิม – อาชีพที่ฉันเคยวิ่งหนีจากเมื่อปี 2012
การหวนกลับมาครั้งนี้ ฉันมาพร้อมความตั้งใจว่าจะอยู่กับมันอย่างยาวนาน

ในยุคสมัยที่ธุรกิจสื่อถูกท้าทายและต้องปรับตัว ฉันค่อยๆ ค้นพบที่ทางของตัวเอง ว่าตัวเองเหมาะกับอะไร (หรืออย่างน้อยที่สุด ฉันสบายใจกับจุดไหน)

ฉันรับงานเป็นมือปืนรับจ้าง – ผลิตสื่อให้องค์กรต่างๆ หรือที่เรามักเรียกว่า “ลูกค้า” ฉันค้นพบว่าลูกค้าแต่ละคนมีวิธีการทำงานที่แตกต่างกันไป และหลายครั้ง “การปรับตัว” และ “เปิดใจ” ต่อกัน นั้นสำคัญมาก

และการเคารพกัน – อาจสำคัญที่สุด

นอกจากการหันมาทำสื่อให้องค์กร ฉันค้นพบความสนใจใหม่ในเรื่องเล่า ฉันอยากเขียนเรื่องเล่าในรูปแบบบทละคร บทหนัง หรือแม้กระทั่งแฟนฟิคชั่น ขณะเดียวกันความสนใจก็ขยายขอบเขตไปที่สื่ออย่างวิดีโอสารคดี และคลิปยูทูป

ฉันไม่ใช่คนเก่ง, หัวช้าและเดินช้า, แต่เมื่อค้นพบว่าอะไรคือสิ่งที่อยากทำ ฉันก็อยากมุ่งหน้าไปให้เต็มที่

แต่ไปเต็มที่ของฉัน อาจหมายถึงการเดินต้วมเตี้ยมในสายตาของคนอื่น

แต่นั่นก็ไม่เป็นไรเลย

หลังจากกลับมาทำงานที่กรุงเทพฯ ได้ 1 ปีกับอีก 7 เดือน ฉันค้นพบว่า มีอะไรที่ฉันอยากทำอีกมากมาย แต่ฉันก็คงทำไม่ได้ทุกอย่าง ฉันควรโฟกัสแรงและพลังกับสิ่งสำคัญที่สุด ส่วนหนึ่งนั่นคืออาชีพประจำ ส่วนสองนั่นคือเรื่องเล่าส่วนตัวที่อยากเล่า (ในทุกรูปแบบที่เอื้อให้เล่า)

นับจากวันที่เรียนจบจากมหาวิทยาลัยโตเกียว ฉันไม่ได้ทำงานด้านนโยบายอย่างที่เรียนจบมา ไม่ได้สอนหนังสืออย่างที่เคยตั้งใจไว้ เส้นทางที่ฉันเลือก ไม่ได้มอบเงินทองมากมาย แต่นี่อาจเป็น เส้นทางที่ฉันเลือกแล้ว

คงเหมือนกับ เสื่อบนลานหญ้า ที่เราเลือกจับจอง ก่อนที่พลุไฟฮานาบิจะเริ่มต้นขึ้น

ฉันเลือกปูเสื่อตรงนี้ จุดที่สบายใจที่จะอยู่ และสบายใจที่จะนั่ง

ปี 2018 หรือที่คนญี่ปุ่นเรียกว่า ปีเฮย์เซย์ 30 กำลังจะผ่านไป

พลุไฟส่งท้ายปีเก่าและต้อนรับปีใหม่จะถูกจุดขึ้น

จุดที่เราแต่ละคนเลือกให้ชีวิต อาจไม่เหมือนกัน (และไม่จำเป็นต้องเหมือน)

แต่หวังว่าเราจะพอใจกับมัน

และ Enjoy กับความงามของดอกไม้ไฟ

ไม่ว่าเราจะอยู่ในฐานะผู้เฝ้ามองหรือผู้จุดมันขึ้นก็ตาม

Categories
daily discover experience

[blog]ทำไมคนอายุ 37 ปีอย่างเราต้องมาเรียนแต่งหน้า …​และนี่คือบทเรียนที่ได้เรียนรู้

 

12

 

1.แม้เราจะเป็นคนที่ดูคลิปแต่งหน้าใน YouTube มากว่า 10 ปี และเราเชื่อมั่นว่า เราแต่งหน้าพอเป็นบ้าง แต่เอาจริงๆ แล้ว เราไม่ค่อยเข้าใจเรื่องการแต่งหน้าเลย

2.ปีหน้า เรากับเพื่อนจะเปิดแชนแนล YouTube และการจะโผล่หน้าสดเข้ากล้องบ่อยๆ มันก็คงไม่โอเค เราเลยคิดว่าเรียนแต่งหน้าไปเลยดีกว่า

3.เราลงเรียนคอร์ส อ.ปิงปอง ซึ่งเป็นน้องของเพื่อนเรา คอร์สราคา 1,500 บาท เป็นอะไรที่คนทั่วไปเอื้อมถึง อีกอย่าง เราชอบทัศนคติของ อ.ปิงปอง ที่ไปเปิดคอร์สยังตลาดต่างจังหวัดก่อน โดยปกติแล้ว อ.ปิงปอง ไม่ได้สอนที่ กรุงเทพฯ นะคะ แต่จะวนไปทั่วประเทศ ลูกศิษย์ของ อ.ปิงปอง คือผู้หญิงต่างจังหวัดทั่วไป

โฉมหน้าของลูกศิษย์ อ.ปิงปอง ทำให้เราคิดถึง แม่ๆ ยายๆ แถวบ้านเรา

เราชอบที่ อ.ปิงปอง ทำให้ความสวยเป็นเรื่องของการเข้าถึงง่าย และความสวยไม่มีชนชั้น (มันคงมีแหละ เพราะจะแต่งหน้าก็ต้องใช้เงิน แต่ อ.ปิงปอง ไม่เน้นของแพง)

4.เราลงเรียนคอร์สวันที่ 7 ธันวาคม เป็นคอร์สที่จัดขึ้นที่โรงแรมทาวน์ อิน ทาวน์ ลาดพร้าว เราลางานไป บอกเจ้านายเสร็จสรรพว่า ลาไปเรียนแต่งหน้า #ช่างกล้า

5.เขานัดกัน 11.30 น. เราไปถึงสัก 11 โมง พอเดินเข้าล็อบบี้โรงแรม …​เราชอบบรรยากาศมาก เพราะเราเจอ แม่ๆ น้าๆ ยายๆ เพียบเลย เราเจอคุณยายคนหนึ่งอายุ 83 ปี มาเรียนแต่งหน้า!

คุณยายเป็นแรงบันดาลใจที่ดีในการมีหัวใจที่ Fearless + Adventurous มาก

6.จริงๆ แล้ว สารภาพว่า เทคนิคหลายอย่างที่ อ.ปิงปอง สอนในคลาส เป็นเทคนิคที่มีสอนกันอยู่แล้วในโลกออนไลน์ เสิร์ช YouTube สิ คุณจะเจอเพียบเลย

แต่นั่นไม่ใช่หัวใจหลักของการเข้าคอร์สไง!

หลายคนที่เขาลงเรียนคอร์สแต่งหน้าเมื่อวาน เราเชื่อว่าเขาแต่งหน้ากันพอได้อยู่แล้ว เขาแยกแยะเบส ไพรมเมอร์ คอนซีลเลอร์ รองพื้น ชนิดแป้ง เป็น แต่เขามาเรียนเพื่อให้เข้าใจมากขึ้น เข้าใจว่าจะอำพรางจุดด้อยบนใบหน้าตัวเองอย่างไร และจะเสริมจุดเด่นที่มีอยู่อย่างไร

ทุกคนมาเพื่อเปล่งประกายในแบบของตัวเอง

7.คุณพี่สองคนที่นั่งข้างๆ เรา เขาบอกว่า เขามาเรียนเพื่อเอาไปแต่งหน้าให้ลูกสาว!!! ลูกสาวเขาได้ขึ้นแสดงงานโรงเรียน และคุณแม่อยากแต่งหน้าให้ลูก!!!
เนี่ย! ทุกคนมีความฝัน และทุกคนมีเป้าหมายของตัวเอง รัก!

8.เราชอบขั้นตอนแรกสุดของคลาส ที่ อ.ปิงปอง จะเดินไปคุยกับลูกศิษย์แต่ละคน สำรวจจุดด้อย และจุดเด่นของใบหน้า อ.พูดตรง จริง แต่ใส่ใจ จุดไหนที่เป็นข้อด้อยของเรา อ.ก็จะบอก (อาทิ หน้าเรามีกระเยอะมาก ผิวแห้ง เป็นสิว ทำให้หน้าดูโทรมกว่าคนวัยเดียวกัน) แต่จุดไหนเด่น อ.ก็จะบอกเช่นกัน (อาทิ เราเป็นคนหน้าเรียวอยู่แล้ว เราไม่ต้อง shading/contour เพื่อลบกรามออกเลย) เป็นต้น

เราชอบทัศนคติที่บอกว่า ใบหน้าของแต่ละคนแบกประสบการณ์และเรื่องราวในชีวิตมาไม่เหมือนกัน เวลาที่แต่งหน้าออกมา มันก็จะแตกต่างกัน

9.สำหรับเรา คอร์สเรียนแต่งหน้า คือคอร์สที่เรามาสำรวจตัวเอง สำรวจอดีตที่ก่อให้เราเป็นเรา และสำรวจทัศนคติที่เรามีต่อตัวเอง ต่อความงาม และเป้าหมายในอนาคต

10.
สืบเนื่องจากข้อ 9 สิ่งที่เราได้ค้นพบในคลาสคือ
10.1/ ถ้าไม่จำเป็น เราจะไม่ติดขนตาปลอม!!! การติดขนตาปลอมเป็นเรื่องยากมาก ยากยิ่งกว่าให้ลงเรียนภาษาเกาหลีอีก

10.2/ที่เราไม่เคยมีปัญหากับหน้าสด ที่เต็มไปด้วยกระของเราเลย ก็เพราะ ตอนเราอายุ 23 ปี เราเคยไปสัมภาษณ์ผู้หญิงคนหนึ่งที่มีกระบนใบหน้า แต่เธอสวยมาก! และสำหรับเธอแล้ว กระคือส่วนหนึ่งที่เป็นตัวตนของเธอ เป็นสิ่งที่ทำให้เธอมีเอกลักษณ์ หลังจากนั้น เราก็เหมือนฝังความคิดนี้ลงหัวเราหน่อยๆ (ประกอบกับความขี้เกียจส่วนตัวด้วย)

10.3/ข้อ 10.2 สะท้อนออกมาชัดเจนมาก ตอนลงรองพื้น เพราะเราลงบางๆ รอบเดียวก็พอแล้ว ซึ่งกระและรอยสิวก็ยังอยู่นั่นแหละ แต่เราโอเคแล้ว จนกระทั่ง อ.ผู้ช่วย เดินมาถามว่า ทำไมเราไม่ลงรองพื้นล่ะ เราบอกว่า เราลงแล้วนะ แล้วเขาทำหน้าประหลาดใจ เขาขอให้ลงเพิ่ม จะได้ปิดหน้าให้เนียน เรารู้ว่าเขาหวังดี เราเลยถามว่า ถ้าอยากหน้าเนียน เราต้องลงอย่างน้อย 2 รอบแบบ full coverage ใช่ไหม เขาบอกว่า ใช่ เราบอกว่า ในคลาสนี้เราจะลงแบบ full แล้วกัน แต่ปกติแล้ว เราโอเคจริงๆ นะ ที่ถึงลงรองพื้นแล้วยังเห็นรอยกระอยู่ เรารู้สึกว่ามันเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเรา

ที่พูดไม่ได้หมายถึง อยากมีกระ แต่สำหรับเรา เราไม่ได้มีปัญหากับการมีกระ (ปริมาณเท่านี้) ในระดับที่จะยอมไม่ให้ใครเห็นหน้าชั้นที่มีกระไม่ได้เลย

เราเพิ่งค้นพบตอนเข้าเรียนคอร์สนี้แหละว่า เออ…เรามีทัศนคติแบบนี้เนอะ และไอ้ที่ผ่านมาทั้งชีวิต เราปฏิบัติกับใบหน้าเราแบบนั้น เพราะเรามีทัศนคติประมาณนี้อยู่เบื้องหลังนั่นเอง

ไม่ได้หมายความว่า ทัศนคติไหนดีหรือไม่ดี แต่เราแค่เป็นอย่างนี้ และมันมีเหตุให้เป็น แต่คอร์สนี้ ทำให้เราเข้าใจตัวเองมากขึ้น (ต้องรอตั้งอายุ 37 แน่ะ กว่าจะเข้าใจ)

11.สรุป

เราประทับใจคอร์สของ อ.ปิงปอง มาก
แต่เราต้องบอกก่อนว่า คนที่ชอบบิวตี้บล็อกเกอร์สายฮิป สาย IG สีฟุ้งๆ หน่อย คุณจะไม่เหมาะกับคอร์ส อ.ปิงปอง นะ (ไม่ได้หมายถึงไปด้วยกันไม่ได้ แต่หมายถึง มันจับคนละกลุ่มตลาด และคนที่ชอบการนำเสนอแบบนั้น น่าจะไม่ชอบการนำเสนอแบบ อ.ปิงปอง)

เราว่า เด็กวัยรุ่น มาเรียนคอร์ส อ.ปิงปอง อาจจะไม่สนุกหรอก (แล้วจริงๆ เด็กวัยรุ่นก็ยังไม่ค่อยมีปัญหาผิวด้วย)

ใครอยากลงเรียน ลองตาม hastag #pinkymakeup ใน Facebook ดูได้เลยค่ะ

 

ปล.ลงภาพที่ถ่ายคู่กับคุณยายวัย 83 ปี ที่เป็นเพื่อนร่วมคลาสกัน

11

 

Categories
daily discover experience

[blog] ฟิก DoTen และการเทรนนิ่งที่ facebook – เกี่ยวอะไรกัน แต่ก็เกี่ยวนะ

วันนี้มีโอกาสไปเทรนที่ออฟฟิศ facebook มา เลยทดไว้นิดหน่อย เผื่อเป็นประโยชน์กับใคร (ซึ่งคิดว่าคงไม่มี XD)

1/ไปกับแบรนด์ ซึ่งแบรนด์ก็อยากอัพเดทวิธีการสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ และตรงกลุ่มเป้าหมายมากที่สุด รวมถึงขยายกลุ่มที่น่าจะหันมาเป็นลูกค้าแบรนด์ในอนาคตได้ด้วย เออ ประเด็นวันนี้ มันจะเน้นทำความเข้าใจกับฝ่าย creative หน่อยๆ เหมือนให้ฝั่ง creative เข้าใจว่าควรจะเล่นสนุกกับ fb page ได้อย่างไรบ้าง

2/เมื่อเป้าหมายเป็นแบบนี้ ส่วนใหญ่ประเด็นที่เทรนนิ่งกันก็ประมาณนี้แหละ

3/เหมาะกับเอเจนซี่ที่ดูแลลูกค้าใหญ่ พวกแบรนด์นั่นนู่นนี่

4/คนใน fb ที่ดูแลลูกค้าที่เป็นกลุ่มแบรนด์ หลักๆ จะมาอัพเดท tools หรือ features ใหม่ๆ ของ fb ให้ฟัง

5/เขามีการวิเคราะห์อะไรให้ฟังเยอะอยู่นะ แต่เราว่าหลายอันก็ไม่ว้าวแล้วอ่ะ แนวประมาณว่า
-mobile first (เวลาทำคอนเทนต์ต้องคิดถึงการทำเพื่อตอบสนอง mobile เป็นหลัก)
-ตอนนี้ fb users ของไทย 51 ล้าน accounts และแอ็คทีฟราวๆ 31 ล้านแอคเคาน์
– คนส่วนใหญ่กว่า 70% ของไทยเข้าถึง mobile และมี fb account แล้ว (ประมาณว่า ไปถึงทุกชนชั้นแล้วจ้า)
-ดังนั้นกลุ่มใน fb จึงมีหลากหลายมาก ถ้าสินค้าแบรนด์หรู อยากทำแคมเปญเพื่อสื่อสาร ถ้าเลือก target ไม่แม่น อาจจะส่งสารไปผิดกลุ่มก็ได้

6/และตอนนี้เขาเชียร์ IG, IG Story มาก (เชียร์ให้แบรนด์ทำสื่อสาร)
ซึ่งจริงๆ เราใช้ IG บ่อยนะ แต่เราแอบคิดว่า ทีม fb พยายามขาย IG อ่ะ หมายถึง กำลังดัน กำลังปั้นให้คนหันมาใช้อันนี้เยอะๆ

แต่ IG เป็นช่องทางการสื่อสารของแบรนด์ที่เน้น visual ได้จริงๆ (และสถิติบอกว่า คนใช้ IG ส่วนใหญ่มีการศึกษา — แก๊ แต่รู้ไหมว่าแก๊งเพลงลูกทุ่งอ่ะ เขาสื่อสารผ่าน IG กับ IG Live ตลอดเวลานะจ๊ะ อาทิ พี่ต่าย อรทัย ของชั้น)

7)เทรนด์วิดีโอสั้นๆ มากๆ เพื่อโปรโมทแบรนด์กำลังมา ประมาณแบบ ไฟล์ .gif อ่ะ แต่ก็ไม่ .gif ทีเดียว อาจจะยาวกว่าหน่อย

8)แต่ที่ประทับใจ คือออฟิศ fb ในห้องน้ำหญิงอ่ะ มีกล่องใสอันหนึ่ง มีผ้าอนามัยจัดวางไว้อย่างสวยงาม
อื้อหือ ไม่แน่ใจว่าผู้ชายเข้าใจไหม แต่มันสื่อสารว่า เขาให้ความสำคัญอ่ะ คือปกติบางทีผู้หญิงจะเจอสถานการณ์แบบนี้ แล้วต้องไปร้านสะดวกซื้อ หรือบลาๆๆ … แต่นี่ไม่ต้องตามหา คือมีไว้ให้เหมือนมีทิชชู่ในห้องน้ำอ่ะ แต่จัดวางไว้น่าประทับใจ เห็นถึงความใส่ใจ

คือประทับใจกว่าที่เขาว่ามีอาหารบริการดีบลาๆ อีก

9.)ทีม fb บอกว่า เดี๋ยวนี้เด็กใช้ IG กับ IG Story แอ๊วกัน … คนอื่นไม่เข้าใจ แต่ชั้นบอกชั้นเข้าใจ
ทำไมเข้าใจน่ะเหรอ… อ๋อ เห็นในฟิกจอยลดาอ่ะ ตัวละครในฟิกชอบแอ๊วกันใน IG/ IG Story โดยเฉพาะฟิก DoTen

จบ

ขึ้นต้นอะไรก็ได้ แต่ต้องลงท้ายด้วยการชิป #DoTen
#พลังของติ่ง #เรื่องติ่งเราจริงจัง #อย่าลืมวนดูเอ็มวีSimonSays #เพราะยูตะหล่อมาก

—-


ไม่ได้อัพเดท blog บ่อยนะคะ
แต่ถ้าอยากติดตาม สามารถติดตามได้ที่

Like: fb.me/deartiktok
Follow: twitter.com/tiktokthailand
Blog: deartiktok.wordpress.com

ปล.ถ้าชอบอ่านเรื่องคน เรื่องอปป้า ฝากติดตามคอลัมน์ #OhOppa ที่ way magazine ด้วยนะคะ

Categories
experience Seen Thought

[documentary film] Boundary – ฟ้าต่ำ แผ่นดินสูง

 

Screen Shot 2018-09-22 at 3.33.07 PM

Boundary – ฟ้าต่ำ แผ่นดินสูง (นนทวัฒน์ นำเบญจพล/2013/ไทย)

ได้ดูสักที
ทั้งที่อยากดูตั้งแต่ตอนออกฉาย แต่จำไม่ได้ว่าทำไมถึงไม่ได้ดู … เหมือนจะอยู่บ้านนอก หรือไปญี่ปุ่นแล้วนี่แหละ (แต่หนังเข้าฉาย เมษายน 2013 รึเปล่า…นั่นยังไม่ได้ไปญี่ปุ่นเลยนะ)

แต่นั่นแหละ ได้ดูแล้ว

หลังจากสารคดีเรื่องนี้ฉายมา 5 ปี พอย้อนกลับมาดูในช่วงที่กระแสความขัดแย้งจากกรณีเขาพระวิหาร -ที่ถูกขับด้วยลัทธิชาติยมเป็นหลัก- ซาลงไป (หมายถึงความร้อนแรงของความขัดแย้งซาลงไป ไม่ใช่ลัทธิชาตินิยมซาไป) ก็พบว่า ตัวเองไม่ได้อินกับสารคดีมาก (ทั้งๆ ที่ตัวเองก็เป็นคนอีสาน) และเอาเข้าจริง ตัวสารคดี ก็ไม่ได้ถูกสร้างมาเพื่อให้ใครอินอยู่แล้วมั้ง (เหมือนจะเป็นเช่นนั้นนะ)

ถ้าให้เล่าถึงเมนไอเดียของสารคดี คงต้องบอกว่า มันคือหนังสือ Imagined Community ของ อ.เบน แอนเดอร์สัน นั่นแหละ (และแน่นอน มีเครดิต อ.เบน อยู่ท้ายเรื่อง) มันคือการพยายามทำความเข้าใจเรื่องพรมแดนของความขัดแย้ง – ทั้งความขัดแย้งตรงพรมแดนเขาพระวิหาร และความขัดแย้งในวิกฤตการเมืองไทย (เสื้อเหลืองเสื้อแดง) นั่นแหละ – ซึ่งผู้กำกับเลือกเล่าผ่านตัวละครเล็กๆ โดยเฉพาะชาวบ้านและทหารในพื้นที่ทั้งสองฝั่ง

แต่สารคดีก็ไม่ได้สืบค้นถึงรากลึกของปัญหาอะไร เพราะนั่นไม่ใช่สารหลักที่จะสื่ออยู่แล้ว มันคือการพยายามมองมาจากคนนอก (เพราะผู้กำกับเป็นคนกรุงเทพฯ = คนนอกอยู่แล้ว) ซึ่งไม่ได้อยู่ใกล้พื้นที่ซึ่งมีเสียงปืนเสียงระเบิด ที่น่าสนใจคือ ปัญหาที่ชายแดนเขาพระวิหาร ก็เป็นปัญหาที่ไม่ได้ก่อขึ้นโดยคนในพื้นที่ด้วยซ้ำ ปัญหาที่ถูกจุดให้ร้อนแรงอีกครั้งในช่วง 2011 ที่มีการปะทะกัน เกิดขึ้นจากคนนอกพื้นที่…คนที่รู้สึกว่า “จะเสียเอกราชไทยให้เขมรไม่ได้”

สารคดีแนะนำเราให้รู้จักกับอ๊อด ทหารเกณฑ์ที่กำลังจะปลดประจำการ เขาได้รับสิทธิ์พักร้อนกลับบ้านช่วงสงกรานต์ บ้านของอ๊อดอยู่ตรงจุดที่มีปัญหาพิพาทนั่นแหละ ศรีษะเกษ (สะกดอย่างนี้ใช่ไหม) จริงๆ อ๊อดมีความน่าสนใจ แต่เนื่องจากตอนนี้หิว ขี้เกียจเขียนยาว ทิ้งมันไว้ตรงนี้แหละ อ้าว

นอกจากอ๊อด เราได้รู้จักพ่ออ๊อด รู้จักชาวบ้านที่ต้องอพยพเมื่อเกิดการปะทะ รู้จักคนที่สูญเสียบ้านเพราะระเบิดลง (บ้านทั้งหลังที่เก็บเงินมาสร้าง) รู้จักคนที่เสียสามีเพราะระเบิดลง (ฝ่ายภรรยาเล่าถึงด้วยท่าทีไม่ดราม่าเลยแม้แต่น้อย แต่นั่นยิ่งทำให้คนดูรู้สึกถึงความดราม่ามากขึ้น) ทหารแถวๆ นั้น ทั้งไทยและเขมร …​ในพาร์ทเขมร (กัมพูชา) ผู้กำกับเล่าถึงนอกรอบ (เหมือนจะเล่าในเฟซบุ๊ก-เคยอ่านผ่านตาตอนนั้น) ว่าต้องปลอมตัวเป็นชาวต่างชาติ (แนวๆ จีน เกาหลี ญี่ปุ่น นี่แหละ) เข้าไปขอสัมภาษณ์ เพราะตอนนั้นถ้าบอกว่าเป็นคนไทย … เละแน่ๆ

สิ่งที่น่าสนใจจริงๆ สำหรับเราก็คือ … หลายครั้งที่งานซึ่งสำรวจประเด็นในเชิงนี้ (เชิงไหนหว่า…เออ นั่นแหละ) มักเป็นผลงานของคนที่ไม่ได้เรียนรัฐศาสตร์มาโดยตรง (ผู้กำกับเรียนออกแบบนะถ้าจำไม่ผิด) แต่เป็นการต่อยอดจากความสนใจ ก้าวข้ามพรมแดน (แน่ะ…​ boundary) ของความรู้เฉพาะสาขาหนึ่งๆ ไปสู่สาขาหนึ่งๆ ปะทะสังสรรค์และเล่ามันออกมา ด้วยความสนใจใคร่รู้

สิ่งที่เรา-ในฐานะเด็กรัฐศาสตร์-สนใจหลังจากดูสารคดีเรื่องนี้จบลง คงเป็นประเด็นที่ว่า … เราอยากรู้ว่า มีคนสาขารัฐศาสตร์หรือสาขาแนวๆ นี้ ได้ถ่ายทอดหรือเล่าถึงเรื่องนี้ในเชิงสารคดี หรือเรื่องเล่า (อาทิ หนังสั้น / อนิเมชั่น) ไว้บ้างไหม ในการมองเรื่องพิพาทเขาพระวิหาร ถ้าเราไม่มองจากมุมของ Imagined Community ของ อ.เบน แอนเดอร์สัน รวมถึงไม่มองจากสายตาของลัทธิชาตินิยม มันจะเลือกเล่า หรือมองได้จากอะไรอีกบ้าง

อ๊ะ ลืมให้คะแนน

8.5/10

สามารถเช่าดูออนไลน์ (48 ชม.) ได้ที่ Vimeo ในราคา 6$ (ประมาณ 180 บ.)

ลิงก์เช่าหนัง – https://vimeo.com/ondemand/boundary/135178142

Categories
experience special journey

[SPECIAL JOURNEY] ภาษาที่เราอาจจะไม่เข้าใจ #2

 

“ถ้าหนูไม่โอเค หนูก็พูดได้นะว่าไม่โอเค”

เมื่อวาน หลานอายุ 17 ปี โทรมา หลานมีพี่ชายเป็นบุคคลมีภาวะความต้องการพิเศษ​ (ออทิสติก) ซึ่งเมื่อวาน พี่ชายหลานหายไปจากบ้าน พบอีกทีก็คือปั่นจักรยานไปตลาด แล้วอยากได้หลอดไฟ ก็เลยไปหยิบหลอดไฟในร้านค้า แล้วทำแตกไป 2 ดวง

ตอนที่พี่ชายหายไป หลานบอกว่าหลานเครียดมาก แต่ที่เครียดกว่านั้น ก็คือ แม่หลานโดนคนที่ตลาดด่า ว่าดูแลลูกไม่ดี

หลานเครียดว่า ถ้าหลานเรียนจบ ม.6 แล้ว ไม่ได้อยู่บ้านกับแม่แล้ว สถานการณ์จะเป็นไงต่อ ใครจะดูแลพี่ชาย แล้วถ้าพี่ชายหายไปอีกล่ะ

เมื่อวานก็เลยได้เล่าให้หลานฟังเรื่องบ้านฟาร์ม ที่ปากช่อง

บ้านฟาร์ม เป็นคล้ายๆ กับโรงเรียนวันหยุด ที่ทุกศุกร์-เสาร์-อาทิตย์ ครอบครัวและเด็ก(วัยรุ่น)พิเศษ จะมาเรียนรู้ร่วมกัน

ถ้าจะให้อธิบายบ้านฟาร์มไปมากกว่านี้ …​ เราคิดว่า เราคงจะอธิบายมันไม่ได้แล้วล่ะ

คือกิจกรรมที่บ้านฟาร์มทำ เป็นสิ่งที่เราคิดว่า คนภายนอก – นอกในระดับที่อาจจะไม่เคยรู้จักเด็กหรือบุคคลมีภาวะความต้องการพิเศษ – หรือแม้กระทั่งคนที่มีคนในครอบครัวมีภาวะนั้น … ก็ยังอาจไม่เข้าใจกิจกรรมบ้านฟาร์มอยู่ดี

ก่อนไปเยี่ยมบ้านฟาร์ม เราก็มีความไม่เข้าใจหลายอย่าง

เรื่องของเรื่องคือ ออมแนะนำให้เรารู้จักกับพี่ฟ้า เมื่อปีก่อน แล้วมันเหมือนติดอยู่ในใจเรา ว่าอยากสัมภาษณ์พี่ฟ้ามาตลอด

พี่ฟ้าเป็นแม่ของซีซาร์ ซีซาร์มีภาวะความต้องการพิเศษ
ขณะเดียวกันพี่ฟ้าก็เป็นแม่ของซัน ซันเรียนจบเอกอังกฤษ จาก ม.เกษตร ตอนนี้กลับมาช่วยพี่ฟ้าทำงานกิจกรรมที่บ้านฟาร์ม

เมื่อไม่นานมานี้ เราติดต่อขอสัมภาษณ์พี่ฟ้าไป ปกติแล้วพี่ฟ้าจะอยู่ที่ปากช่อง แต่ก็มีคิวเข้ามา กทม. บ้าง จากที่คุยกัน เราตกลงจะไปบ้านฟาร์ม แต่ก็มีเหตุให้ต้องเลื่อนเดินทาง เลื่อนไปเลื่อนมาเกือบเดือน เกือบยกเลิกไปแล้ว เคยถามพี่ฟ้าไปหนหนึ่ง ว่าเลื่อนมาเจอกันที่ กทม.ดีไหม … แต่เหมือนมีอะไรบางอย่าง ส่งสัญญาณมาบอกเราตลอดว่า ถ้าอยากเข้าใจสิ่งที่พี่ฟ้าทำจริงๆ คุยที่ กทม.ไม่ได้หรอก ต้องไปคุยที่ปากช่องเท่านั้น

ต้องไปเห็นบ้านฟาร์มเท่านั้น

ก็เลยไปกัน

…เราได้เรียนรู้จากบ้านฟาร์มหลายอย่างเลย…

แต่สิ่งที่เราจำได้ดีที่สุด ก็คือ บทเรียนที่ไม่มีใครสอนเลย บทเรียนที่เกิดขึ้นอย่างบังเอิญที่สุด

ในจังหวะหนึ่งหลังกินข้าวเที่ยงเสร็จ วิน-วัยรุ่นพิเศษตัวอ้วน,​ คนที่เหมือนภาพแทนของหลานคนที่มีภาวะความต้องการพิเศษของเราเลย – วินกำลังส่งเสียงงึมงำบางอย่าง เป็นเสียงเหมือนผึ้งบินหึ่งๆ น่ะ เป็นเสียงที่ไม่ใช่ภาษาไทย และไม่ใช่ภาษาอะไรที่เราฟังเข้าใจเลย

แล้วซันก็พูดขึ้นมาว่า
“ถ้าตัดเรื่องภาษาออก แล้วฟังแค่น้ำเสียงที่วินจะสื่อสาร มันเหมือนกับว่า วินกำลังหงุดหงิดอยู่นะ”

แม่งเชี่ย (นี่คือคำชม) … โห ซัน นี่ใช่คนอายุ 25 ปีไหม ทำไมเข้าใจโลกได้ดีขนาดนี้

หลังจากนั้น คำที่ซันพูด ก็ทำให้เราหันมามองหลานที่มีภาวะความต้องการพิเศษด้วยมุมมองใหม่


แอนดี้อายุ 20 ปีแล้ว เป็นบุคคลที่มีภาวะความต้องการพิเศษ
แอนดี้เป็นหลานเรา
และเป็นพี่ชายของหลานสาวเรา (งงไหม)

ช่วงต้นสิงหาคม เรากลับบ้านไปงานศพน้า แล้วระหว่างนั้นเราเจอแอนดี้ เราถามหาพ่อเลี้ยงเรา (ที่ขับรถไถ) กับแอนดี้ เราพูดชื่อพ่อเลี้ยงออกมา แอนดี้ไม่ได้ตอบ แต่แอนดี้พูดซ้ำๆ ย้ำๆ คำว่า “รถไถ”

ทุกครั้งที่เจอเรา แอนดี้ก็จะชอบพูดถึง “ติ๊ก เจษฎาภรณ์”

ภาษาที่แอนดี้สื่อสารออกมา เป็นภาษาที่เราไม่เคยเข้าใจ
เราคิดว่าแอนดี้พูดไม่รู้เรื่อง
จนกระทั่งวันที่เรากลับบ้านไปรอบนั้นแหละ แล้วเราก็ “ฟัง” แอนดี้ด้วยมุมใหม่

แอนดี้สื่อสารได้นะ เขามีภาษาของเขา และเขากำลังพยายามเชื่อมโยงภาษาของเขากับภาษาที่เราใช้กันอยู่

ถ้าเราลอง “ฟัง” แบบที่ซันบอก
ลองจับน้ำเสียง … เราอาจจะพอเข้าใจว่าเขาต้องการอะไรมากขึ้น

“แอนดี้ขี่จักรยานได้ด้วยเหรอ เก่งจังเลยเนอะ” เราตอบหลานที่โทรมาเรื่องที่ว่าแอนดี้หายไปจากบ้าน หายไปโดยการปั่นจักรยานไปตลาด

“หนูก็ไม่เคยรู้มาก่อนว่าแอนดี้ปั่นจักรยานได้ด้วย” หลานสาวเริ่มอารมณ์ดีขึ้นแล้ว

“วันก่อนแอนดี้ไปจับปูนามาด้วยนะ แอนดี้ขุดหลุมจับปูเก่งมาก เก่งกว่าพ่อกับแม่อีก” หลานสาวยังคงเล่าต่อ

“บางทีหนูก็รู้สึกรำคาญแอนดี้นะ” หลานสาวเล่าในบางจังหวะ

“ถ้าหนูไม่โอเค หนูก็พูดได้นะว่าไม่โอเค” ฉันตอบกลับไป — จริงๆ ไม่ใช่คำตอบที่ฉันคิดได้เองหรอก ก่อนหน้านี้ฉันโทรปรึกษาออม –ออมทำงานด้านเด็กมีภาวะความต้องการพิเศษมาหลายปี ออมรู้ว่าภาวะที่คนในครอบครัวทั้งรักทั้งเกลียดคนที่มีภาวะนี้นั้น…มีอยู่จริง

และมันไม่เป็นไรเลยที่จะยอมรับว่าบางทีเราก็เกลียด…เกลียดชีวิตที่ต้องเจอกับสิ่งนี้

แต่เราก็รักกันในฐานะครอบครัวด้วย

“หนูกลัวว่าถ้าหนูไม่อยู่ (ไปเรียนมหาวิทยาลัย) แล้วครอบครัวหนูจะเป็นยังไงต่อไป”

—ครอบครัวที่มีบุคคลมีภาวะความต้องการพิเศษ จะต้องเจออย่างนี้อยู่แล้ว Up & Down ทางความรู้สึก— ออมบอก

บุคคลที่มีภาวะความต้องการพิเศษมีภาษาในการสื่อสารของเขากับโลก

ครอบครัวที่มีบุคคลมีภาวะความต้องการพิเศษ ก็มีภาษาที่พวกเขาใช้ในการสื่อสารกับโลกด้วยเช่นกัน

ซึ่งเราในฐานะคนนอก อาจจะ, หรืออาจจะไม่-เข้าใจมันก็ได้


ภาพถ่ายจากบ้านฟาร์ม ได้รับอนุญาตจากผู้เกี่ยวข้องให้เผยแพร่ภาพนี้ได้

 

 

P1120463

Categories
daily discover experience

August in February

 

28.02.2018

 

ตอนนี้กำลังชอบฟังอัลบั้ม Home As In Houston ของ The Get Togethers ค่ะ

น้องคนหนึ่งเขียนบล็อกที่พูดเกี่ยวกับเพลง August ของ The Get Togethers ไว้ อ่านแล้วถึงขั้นต้องเสิร์ชหาเพลงและอัลบั้มมาฟัง

อัลบั้ม Home As In Houston วางจำหน่ายในเดือนกันยายน 2013

มีทั้งหมด 12 เพลง ชื่อเพลงคือชื่อของเดือนในรอบ 1  ปี เริ่มต้นตั้งแต่ January และ ไปจบที่ December

มันเล่าเรื่องที่เกิดขึ้นกับ Bethany Gray ในปี 2007

ปีที่เธอหัวใจแหลกสลาย ก่อนจะกอบกู้กลับมาได้ และกลายเป็นอัลบั้มนี้

ลองฟังกันดูนะคะ

แล้วบอกกันบ้าง ว่าคุณชอบเดือนไหนในอัลบั้มมากที่สุด

 

https://thegettogethers.bandcamp.com

a0974586381_10

“The year of 2007 with all of its tragic happenings launched a broken-hearted Bethany Gray on a quest to document its doings. Later emerging as The Get Togethers, this group of close-knit friends is ready to share the story that brought them together- Home as in Houston. The Get Togethers unite the epic and the intimate, the foreign and familiar. These are memoir enthusiasts making home made music.”