Categories
Uncategorized

[film] Hope Frozen


Hope Frozen [ Pailin Wedel, Thailand, 2018]

available now on Netflix

เป็นงานที่ connect กับเรามากๆ 
ระหว่างดูก็ทึ่งกับผู้กำกับ คือ คุณ Pailin Wedel มาก (เราแอดเธอเป็นเพื่อนใน fb แต่ขออนุญาตไม่แท็กแล้วกัน) เธอและทีมงานเก่งมากเลย 

เรายังไม่ตกตะกอนมากพอที่จะหาคำมาอธิบาย (รีวิว) แต่ระหว่างที่ดู เราคิดถึงอาชีพที่แม่เราทำอยู่ตอนนี้ตลอดเวลา – หลายคนคงพอรู้ว่า ครูวิมีอาชีพหลังเกษียณเป็น “โฆษกผี” หมายถึง พิธีกรงานศพ และเป็นอาชีพที่แม่ภูมิใจมากๆ ไม่ใช่ว่าแม่ยินดีกับความตายของใคร แต่การได้เป็นส่วนหนึ่งที่ปลอบประโลมครอบครัวและอำนวยความสะดวกในการพาวิญญาณใครสักคนไปสู่อีกภพภูมิ เป็นสิ่งที่ทำให้แม่มีพลังในการตื่นมาในทุกๆ วันเสมอ

Hope Frozen พูดถึงการสูญเสีย พอๆ กับที่พูดถึงความหวัง มันมีการเยียวยาและปลอบประโลมอยู่ในนั้น เราชอบที่พ่อและพี่ชาย (เมทริกซ์) มีความเป็นนักวิทยาศาสตร์อยู่ในตัวมากๆ เพราะมันก็ทำให้เรื่องนี้ฉีกตัวออกไปจากเรื่องความสูญเสียและเยียวยาอื่นๆ ด้วย

ถ้าจะพูดเรื่องนอกประเด็นหน่อยนึง ก็คงเป็นเรื่อง การได้เห็นภาพการศึกษาวิทยาศาสตร์ของโรงเรียนอินเตอร์ในไทย และภาพบางส่วนของอเมริกา จริงๆ ภาพเหล่านี้มันสะท้อนความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาได้ดีเหมือนกัน เพราะคิดภาพว่า เมทริกซ์ (พี่ชายของน้องไอนส์) อยู่ในโรงเรียนรัฐไทยปกติ เขาจะสามารถเข้าถึงทรัพยากรและองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์มากขนาดนี้ไหม

ขอบคุณคุณ Pailin Wedel และทีมที่ทำเรื่องนี้ออกมานะคะ
และเราหวังว่า น้องไอนส์จะได้ตื่นมาดูสารคดีเรื่องนี้ในสักวันหนึ่ง

Categories
Uncategorized

[fanfiction] #ไซโควินเตน เรื่องที่ไม่ได้เริ่มด้วยการเมือง แต่ตีแสกหน้าเราด้วยการเมืองทุกบท (ฟิกการเมืองที่ดีของปี 2020)

เป็นเรื่องที่ไม่ได้เริ่มต้นด้วยการเมือง แค่เรื่องของเพื่อนวัยเด็ก 2 คน ที่ห่างกันไป คนหนึ่งกลับมาจากจีน มาตามหาอีกคน เพราะ “เขาคือเพื่อนคนเดียวของเธอ”

เพราะหย่งเป็นผู้หญิงที่ผู้หญิงด้วยกันจะไม่ชอบ เธอผิวขาวโอโม่เกินไป นมใหญ่ทะลักเกินไป แถมดูเหมือนชอบแต่งตัวโป๊ตลอดเวลาอีกต่างหาก ดวงตาซื่อๆ เพราะไม่เคยรู้อะไรเลย ถ้าไม่ถูกตีความว่า “ทำตัวแบ๊ว” ก็ถูกตีความว่า “พวก ignorance” ใน Social Media เสมอ

ความที่รู้ตัวว่าชอบและไม่ชอบอะไรอย่างชัดเจน การบอกออกไปตรงๆ ถูกมองว่า “เรื่องมาก”
ทั้งๆ ที่ถ้าอะไรที่หย่งบอกว่าชอบ รับปากว่าจะทำ เธอจะรับผิดชอบมันอย่างดีที่สุด มืออาชีพที่สุด และไม่เคยงอแงภายหลัง

วิทย์เคยไม่ชอบหย่งเพราะทั้งหมดนั้น

แม้ว่าเขาจะเป็นเพื่อนเพียงคนเดียวในชีวิตเธอก็ตาม

นี่คือ เรื่องที่ทำตัว “เสมือน” เป็นเรื่องรักของ YouTuber/Influencer 2 คน ก่อนจะตีแสกหน้าเราด้วยการสอดแทรกการเมืองในทุกบท

หย่งผู้ถูกมองว่า Ignorant และใช้แต่ Beauty Privilege

วิทย์ หมอ Intern คนเก่งของรุ่น ปากหมา ด่ากราดกลุ่มนายทุนใน Twitter ตลอดเวลา…แต่ก็รับงานรีวิวเซเว่นบ้างบางทีอ่ะนะ

เราชอบมู้ดของเรื่องตอนแรก ที่ไม่ได้ประกาศตัวโต้งๆ ว่า “นี่คือนิยายการเมือง” แต่มันค่อยๆ เผยทุกอย่าง และที่สำคัญมันเล่าถึงในมุมมนุษย์มากๆ

เมื่อเราในฐานะคนอ่าน มองจากมุมหย่งมาตลอด เราเลยรักเธอ และเมื่อเรารักเธอแล้ว…มันกำลังบอกว่า เรายืนอยู่ฝั่งเดียวกับนายทุนหรือเปล่า?

นี่คือความรักของนายนักฉอดปากหมา ที่เขาคงเกลียดหย่งตลอดไป ถ้าเขารู้จักหย่งแค่ในฐานะนักคัฟเวอร์เพลง และแอคทวิตเตอร์แม่แมว

เวลาเรารู้จักใครอีกคน มันยากที่จะทำตามอุดมการณ์ต่อไปอยู่ดี

เราว่านี่คือเรื่องที่ดีที่สุดของปีนี้ เพราะมันแนบเนียน และไม่พยายามส่งเสียงบอกทุกคนว่า “ชั้นจะเขียนการเมือง” นี่แหละ

—-
Psycho But It’s Okay (WinTen)
by Babaycatcat

Link : https://www.readawrite.com/a/755535cd54670ae044f5739940d3ceb2

Categories
Uncategorized

[inspired from a song] วันสิ้นสุดฤดูหนาว ฮาเนดะ และ นาริตะ

ถึงมีอำนาจในการเปลี่ยนตอนจบได้ แต่ผมก็ไม่แน่ใจอยู่ดี ว่าอยากจะเปลี่ยนมันไหม

แล้วจุดเริ่มล่ะ? ผมอยากเปลี่ยนมันหรือเปล่า?

ผมคิดว่าตัวเองไม่รู้คำตอบ

วันสุดท้ายที่เราเจอกัน เป็นวันสิ้นสุดของฤดูหนาวในปีนั้น

เพราะโตเกียวมีสนามบินหลักอยู่สองแห่ง, ฮาเนดะ และ นาริตะ

จริงๆ จะบอกว่า นาริตะอยู่ในจังหวัดโตเกียวก็ไม่ได้ เพราะแท้จริงแล้ว นาริตะเป็นสนามบินที่อยู่ในเขตจังหวัดจิบะ

อืม…แต่นั่นแหละ ยังไงผู้คนก็จดจำว่า โตเกียวมีสนามบินอยู่ 2 แห่งอยู่ดี

เช้าตรู่ของวันสิ้นสุดฤดูหนาว เธอไปโผล่ที่สนามบินนาริตะ ขณะที่ผมอยู่ที่สนามบินฮาเนดะ

มันเป็นวันสุดท้ายของผมในมหานครโตเกียว,
ผมกำลังจะจากไป,
และเธอเป็นเพียงคนเดียวที่ยืนยันว่าจะตื่นมาส่งผม

ผมโตมาในครอบครัวที่ต้องย้ายประเทศอย่างสม่ำเสมอ,
อันที่จริงแล้วผมเกิดในดินแดนทางซีกโลกใต้ด้วยซ้ำ, ประเทศเล็กๆ ที่คนส่วนมากมักจะออกเสียงผิด, ประเทศซึ่งเป็นคนละอันกับประเทศที่ผมถือสัญชาติอยู่

การต้องย้ายไปไหนมาไหนตามพ่อบ่อยๆ ทำให้ผมชินกับการไปสนามบิน ผมชินกับการแพ็กกระเป๋า และบ่อยครั้ง ที่ผมชินกับการจากลา

เมื่อเราเติบโตขึ้น การจากลาโดยมากมักจบลงที่งานเลี้ยง
การโอบกอดที่มาคู่กับคำอวยพร – ขอให้เราโชคดีกับจุดหมายใหม่ที่กำลังมุ่งไป

ยิ่งเติบโต, ผมก็ไม่คาดหวังให้ใครมาส่งที่สนามบินอีกแล้ว

แต่คำยืนยันตอนเที่ยงคืนของเธอ ทำให้ผมคาดหวัง

.
.
.

กับคำถามที่เธอถามมาว่าเทอร์มินอลไหน – ผมน่าจะเอะใจตั้งแต่ตอนนั้น

เพราะฮาเนดะ มีแค่ International Terminal
ไม่ได้ถูกแบ่งเป็น 1, 2, 3 อย่างที่นาริตะเป็น
คนดีๆ ที่ไหน-จะถามหาพิกัดเทอร์มินัลจากฮาเนดะ

แต่ผมลืมไป ว่าเธอเป็นคนชอบหลงทิศทาง จำแผนที่ไม่ได้ และบางทีก็งงกับสายรถไฟในโตเกียวบ่อยๆ

ผมลืมเรื่องนี้ไปเลย และคิดว่า เธอจะเข้าใจว่า มันคือ สนามบินฮาเนดะ

.
.
มันไม่ใช่ช่วงเวลาแห่งความเป็นความตาย
มันก็เป็นแค่วันสิ้นสุดของฤดูหนาว

และเราแค่พบว่า เราไปคนละสนามบิน
และเราจะไม่ได้เจอกันอีกแล้ว

.
.

บางที ความใจร้ายของโชคชะตาก็คือ

มันมักโผล่มาเพื่อทำให้เราคาดหวัง

ก่อนที่มันจะพลิกผันไปเป็นอย่างอื่น
.
.

แต่ถึงมีอำนาจในการเปลี่ยนตอนจบได้ แต่ผมก็ไม่แน่ใจอยู่ดี

ว่าอยากจะเปลี่ยนมันไหม

แล้วจุดเริ่มล่ะ? ผมอยากเปลี่ยนมันหรือเปล่า?

“Tried to change the ending,
Peter losin’ Wendy.”

เขียนขึ้นหลังจากฟังเพลง Cardigan ของ Taylor Swift

photo: สวนอุเอโนะ ในแสงแดดของฤดูใบไม้ผลิ ปีเฮเซที่ 26

Categories
Read Uncategorized

[read] ‘เราต่างหลงทางในความเปลี่ยวว้าง’ โดย กงจียอง

‘เราต่างหลงทางในความเปลี่ยวว้าง’
(우리 들의 행복한 시간 – Our Happy Time)

เขียนโดย กงจียอง
แปลไทย ธิดารัตน์ เจริญชัยชนะ

 

P1090051

 

 

อ่านเล่มนี้ตามพี่จอน (จักริช facebook.com/jonjakkrit) เคยเห็นคนพูดถึงเล่มนี้มานาน แต่ไม่เคยคิดอยากหยิบมาอ่านเลย จนพี่จอนโพสต์ เลยซื้อตาม ละแมะ…ละแมะ ความ influencer นี้ …​สปอนเซอร์โปรดเข้าพี่จอนนะคะ

มาถึงหนังสือ น่าสนใจที่ช่วง 5 ปีหลังนี้ วงการวรรณกรรมเกาหลีเริ่มเป็นที่สนใจของสำนักพิมพ์และผู้อ่านในไทยเพิ่มขึ้น จริงๆ มันคือส่วนผสมขององค์ประกอบหลายอย่างประกอบรวมกัน มีจิ๊กซอว์หลายๆ ตัวที่ค่อยๆ ส่งออกวัฒนธรรมเกาหลีจนมันกระจายไปได้เกือบทุกองคาพยพแล้วมั้ง จากเดิมที่มันเริ่มจากซีรีส์เมื่อต้นยุค 2000s จนเพลงเคป๊อปและหนังเกาหลี จนตอนนี้มันก็มาถึงวรรณกรรม (และซีรีส์ It’s Okay to Not Okay ที่พูดถึงนักเขียนวรรณกรรมเด็ก ก็อาจช่วยจุดประเด็นให้คนหันมาสนใจวรรณกรรมเด็กจากเกาหลีใต้มากขึ้น…แหละมั้ง) อ้อ เรื่องแฟชั่น บิวตี้ ดีไซน์ อาหาร อะไรพวกนี้ ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางแล้วล่ะ ไม่งั้นเราจะเห็นคอนเทนต์ในยูทูบแนว “ฟีลเตอร์เกาหลี” เหรอ (และใน Netflix ของไทย ณ ขณะนี้นั้น ถึงขั้นมี category เกาหลี เป็นพิเศษเลยนะ แต่ไม่มี category ญี่ปุ่นเลยด้วยซ้ำ)

ทำไมยังไม่พูดเรื่องหนังสืออีก? เออ,​นั่นสิ

‘เราต่างหลงทางในความเปลี่ยวว้าง’ เป็นเรื่องเกี่ยวกับยุนซู นักโทษประหารชีวิต กับ มุนยูจอง อดีตนักร้อง ปัจจุบันจิตรกรและอาจารย์ศิลปะ ที่มาจากบ้านฐานะดี แต่ยูจองพยายามฆ่าตัวตายมาแล้ว 3 ครั้ง และเธอเป็นคนไม่มีความสุขกับการมีชีวิตอยู่

หนังสือตั้งใจพูดเรื่อง “โทษประหารชีวิต” อย่างชัดเจน น่าจะเป็นประเด็นหลักแรกของนักเขียนด้วยมั้ง แต่การผสมผสานหลากหลายมุมมอง พร้อมให้พื้นที่ต่อคำถามถึงความดีงาม ความเลวร้าย การให้อภัย ความรัก ของมนุษย์ที่มีต่อกัน มันทำให้เรารู้สึกสั่นสะเทือน

ตอนแรกที่หยิบขึ้นมา ก็ไม่คิดว่าจะมีน้ำตา แต่พอถึงบทท้ายๆ คนเขียนเก่งมาก ที่ผลักเรามาถึงจุดที่น้ำตาไหลออกมาได้

จริงๆ เรื่องนี้ มีประเด็น Sexual Harassment และสิ่งเสมือน Domestic Violence ไว้ด้วยนะ

ขอทิ้งท้ายไว้ด้วยโคว้ทจากหนังสือ ซึ่งเป็นโคว้ทที่ชอบมาก และพอกลับไปอ่านโพสต์พี่จอน ก็พบว่า พี่จอนก็เลือกโคว้ทอันเดียวกันนี้มาไว้เช่นกัน

“เวลาใครสักคนพูดว่าฉันอยากตาย สิ่งที่เขาต้องการจะบอกจริงๆ ก็คือฉันไม่อยากมีชีวิตแบบนี้ และการไม่อยากมีชีวิตในแบบที่เป็นอยู่ก็หมายถึงการอยากมีชีวิตที่ดี ฉะนั้นแทนที่จะพูดว่าอยากตาย เราควรพูดว่าอยากมีชีวิตที่ดี”

เราว่ามันเป็นหนังสือที่มอบแสงสว่างให้แก่ชีวิต
และดีใจจัง ที่ได้มีโอกาสอ่านเล่มนี้ในเวอร์ชั่นภาษาไทย

Categories
จดหมายจากเขาวง Uncategorized

ขอบเขตของ “โลก” เรา ที่อาจไม่เท่ากัน

วันก่อนคุยกับเพื่อนโตเกียว เพื่อนถามว่าเห็นอยู่บ้านเกิด ทำไมอยู่นานจัง

เลยตอบเพื่อนไปว่า
รู้ไหมว่า ที่เราสอบไปเรียนต่อโทที่โตได เพราะความตั้งใจของเราคือ การกลับมาทำงานที่บ้านเกิด

so now I’m living the dream.

เรามีทั้งเพื่อนที่ทำ WB, IMF, McKinsey, EY, The Economists
เรามีทั้งเพื่อนที่อยู่บนหนทางไปสู่การเชื่อมประสาน East Asia ให้เกิดสันติภาพอย่างยั่งยืน
เรามีทั้งเพื่อนที่เราเคยแซวกันว่า สักวันเขาจะได้ตำแหน่งใหญ่ในพรรคคอมมิวนิสต์จีนแน่ๆ
เรามีทั้งเพื่อนที่เพิ่งย้ายไปทำงานคอนซัลติ้งเฟิร์มที่ลอนดอน หลังจากผ่านการพยายามมาหลายปี
เรามีเพื่อนที่จบตรี วิศวะอวกาศ (เด็กยุ่นที่มาช่วยเราซ่อมล้อกระเป๋าตอนจะขนกลับไทยอ่ะแหละ) แล้วมาเรียนโทด้านนี้ เพราะอีกหนึ่งความฝันของเขาคือเป็นนักการทูต (และเขาก็กำลังอยู่บนหนทางนั้น)

ทุกคนอยู่บนหนทางที่เชื่อว่า ตัวเองคงกำลังทำให้โลกนี้ดีขึ้น หรือบางคนก็รู้สึกว่า ตัวเองพยายามอยู่

เพียงแค่ว่า …ขอบเขต “โลก” ของเราอาจไม่ได้เท่ากันเท่านั้นเอง

 

 

 

106343618_2011185232359628_8914508587045186776_o (2)

Categories
Thought Uncategorized

media/สื่อบันเทิง กับ อิทธิพลในการเปลี่ยนแปลงสังคม

108025891_2029946587150159_6840497726197579537_n

ออกตัวก่อนว่า ไม่อยากใช้คำว่า soft power ในการเขียนเรื่องนี้ เพราะเรารู้สึกว่า soft power มันต้องมาพร้อมกับนโยบายหลักของรัฐที่ส่งเสริมเรื่องนั้นๆ ซึ่งของไทย ถ้าไม่นับหนังแนว “สุริโยไท” เราว่า รัฐไทยแทบจะทำตัวเป็นอุปสรรคของการเติบโตของ media/สื่อบันเทิง ด้วยซ้ำ

เรื่องมันมาจากข้อมูลชุดหนึ่งที่เราได้ยินตอนที่ทำงานอยู่ สสส.​ (ทำ 6 เดือน ตั้งแต่ ต.ค. 2015 – มี.ค. 2016 ก่อนออกไปทำงานลงพื้นที่อิสาน) นั่นคือ ชุดข้อมูลที่ว่า มีการยอมรับในหมู่คนทำงานประเด็น HIV กันว่า ซีรีส์เรื่อง Hormones ซีซัน 3 ตอน พละ นี่ เป็นหมุดหมายสำคัญที่สร้างความเข้าใจอย่างใหญ่หลวง จนนำมาสู่การเปลี่ยนผ่านไปสู่การยอมรับ “ว่าเราอยู่ร่วมกันได้” แบบมีนัยยะสำคัญ

ซึ่งเคสนี้ (เคสเรื่องอิทธิพลของซีรีส์เรื่องนี้ ต่อการเปลี่ยนมุมมองของสังคม และการนำไปสู่ action = การยอมรับ และโอบรับด้วย) ถ้าเราจำไม่ผิด เหมือนคนที่เกี่ยวข้องกับซีรีส์เรื่องนี้ อย่าง ปิง ก็ไม่เคยออกมาปฏิเสธนะ (หมายถึง ปิงก็ยอมรับพลังของซีรีส์เรื่องนี้ต่อวงการที่ขับเคลื่อนเรื่อง HIV อ่ะ)

>>ถึงตอนนี้ ถ้ามีพี่ๆ ท่านไหนใน สสส.​มีชุดข้อมูลอื่น ก็ทักได้เลยนะคะ
หรือคนที่ทำงานซีรีส์เรื่องนี้กับ ปิง ถ้ามีชุดข้อมูลอื่น ก็ทักได้เช่นกันค่ะ<<

ตอนที่เรารู้ชุดข้อมูลนี้อ่ะ เราตื่นเต้นมาก นั่นคือปลายปี 2015 อ่ะ เราเพิ่งเรียนจบจาก โตได ทำงานที่ สสส. เป็นที่แรกหลังเรียนจบโท แล้วเรารู้สึกว่า อันนี้มันเปิดโลกจัง…ถ้าอยากขับเคลื่อนสังคม บางที media/สื่อบันเทิง ก็อาจจะเป็นตัวขับเคลื่อนหนึ่งที่ทรงพลังสินะ

แต่การได้รับรู้ชุดข้อมูลนี้ แล้วเราตื่นเต้น ก็ไม่ได้หมายความว่า เราเพิกเฉยต่อการทำงานของกลุ่มองค์กรต่างๆ ที่ทำงานประเด็น HIV มาตลอดกว่า 30 ปี … ถามว่า แล้วก่อนหน้าซีรีส์ Hormones คือการทำงานของภาคส่วนอื่นในสังคมล้มเหลวเหรอ? ก็คือ “ไม่ใช่” มันคือ ส่วนสำคัญที่ค่อยๆ ต่อยอดกันน่ะ (ถ้าจำไม่ผิด เหมือนก่อนจะผลิตตอนนี้ ปิงก็เก็บข้อมูลเยอะอยู่ด้วยการสอบถามหลายๆ นักกิจกรรมในแวดวง)

ถามว่า แล้วงานวิจัย งานสื่อ งานรณรงค์อื่นๆ (งานโปสเตอร์ งานนั่นนี่) มันไร้ค่าเหรอ ก็ไม่เลย … มันคือฐานรากที่สำคัญด้วยซ้ำ … และเอาจริงๆ งานเหล่านี้ (เช่น แผ่นพับที่ อสม. อาจจะนำไปแจกตามชุมชน) มันจำเป็นด้วยซ้ำ มันไม่ได้ไร้ค่าเลยอ่ะ

ทีนี้ช่วงปลายปี และต้นปีที่ผ่านมา คนไทยตื่นเต้นกับ หนัง Parasite มาก รวมถึงตื่นเต้นกับพัฒนาการหลายๆ อย่างของซีรีส์เกาหลี แล้วมีการพูดกันเยอะมากขึ้น (จากเดิมที่ก็พูดกันอยู่แล้ว แต่ในวงจำกัด) เรื่องบทบาทของสื่อบันเทิง อิทธิพล ที่มันเปลี่ยนแปลงสังคม หรือขับเคลื่อนประเด็นบางอย่าง ไปสู่เส้นที่มันค่อยๆ โอเคขึ้น

เรามีเพื่อนหลายคนทำงานในวงการ media/รวมไปถึง สื่อบันเทิง เรายังเชื่อว่า (อาจจะเชื่อ เพราะได้รับชุดข้อมูลสมัยอยู่ สสส. ตอนนั้น) ​medai+สื่อบันเทิง มีอิทธิพลที่จะขยับเขยื้อนสังคมได้จริงๆ … สิ่งที่เราทำอาจจะไม่ใช่เรื่องที่มันปังเป็นกระแสระดับประเทศ แต่ตอนที่เราทำสิ่งนั้น มันอาจะเป็น “พื้นฐาน” ที่สำคัญที่รอวันคนอย่าง ปิง หรือแนวนี้มาหยิบไปต่อยอดก็ได้น่ะ

ดังนั้น เราเลยไม่แอนตี้ ไม่เบลอใส่งานเล็กๆ งานอินดี้ หรืองานนอกกระแส เพราะรู้ว่ามันก็มีคุณค่าบางอย่าง
ขณะเดียวกัน เราก็ไม่แอนตี้ เบลอใส่ งานใหญ่ๆ งานแมสๆ ด้วย …

เพราะดอกผลของมัน อาจจะมากมาย…เมื่อมันได้รับปุ๋ย น้ำ และอากาศที่เหมาะสม

มันอาจจะขับเคลื่อนสังคมได้จนแม้กระทั่งเรายังต้องร้องว้าวเลยด้วยซ้ำ

 

Categories
จดหมายจากเขาวง

จดหมายจากเขาวง : บางจุดหมายของชีวิตคือสถานที่ บางจุดหมายคือผู้คน

[จดหมายจากเขาวง ลงวันที่ 14 กรกฎาคม]

ช่วงกรกฎา ถือเป็นหน้าร้อนของญี่ปุ่น, เราอาจจะมองแตกต่างจากหลายคน, เพราะเราชอบท้องฟ้าในหน้าร้อนของญี่ปุ่นมาก

จำได้ว่า เคยนั่งรถไฟไปเที่ยวหน้าร้อนปี 2014 กับเพื่อนสองคน แล้วเจอประสบการณ์มหัศจรรย์ เจอสิ่งที่ทำให้หัวใจพองฟูเสมอเมื่อมองย้อนกลับไป

ไม่ใช่ทั้งความรัก, และไม่ใช่ความโรแมนติกใดๆ
แต่เป็น ชายญี่ปุ่นคนหนึ่ง ที่พวกเราเจอระหว่างหลงทางในเขตอำเภออันห่างไกล แล้วเขาพยายามกางแผนที่อธิบายให้พวกเราฟัง

เราบอกเขาด้วยภาษากระท่อนกระแท่นว่า จุดหมายที่พวกเรามองหาคือที่ไหน?

เราโบกมือลาเขามา โดยไม่ได้คิดอะไร

ก่อนที่แสงอาทิตย์จะลาลับ ระหว่างที่พวกเราหาจุดหมายแห่งนั้นเจอ, เราเจอเขายืนอยู่ที่นั่น, พร้อมรถเล็กๆ ยี่ห้อญี่ปุ่นหนึ่งคัน

เขามาตามหาพวกเรา – เขาอยากรู้ว่า “จุดหมายที่พวกเราตามหา” คือที่ไหน
และเขาเป็นห่วงว่า พวกเรา (สามสาวที่พูดญี่ปุ่นไม่ได้) จะหามันเจอไหม

พอเลิกงานแล้ว เขาก็ขับรถและวนเวียนเปิด GPS จนหาสถานที่แห่งนี้เจอ

“จุดหมายที่พวกเราดั้นด้นตามหาในหน้าร้อนครั้งนั้น”

.
.

หลังจากวันนั้น เราส่งอีเมลขอบคุณเขา เคยบอกเขาไป ว่าถ้ามาเมืองไทยให้บอก จะพาเที่ยว … เขาไม่เคยมาเมืองไทยหรอก เขาแทบไม่เคยออกนอกเมืองที่เขาอยู่

คำว่า “โตได” ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาของพวกเรา ทำให้เขาตาโต

เขาเป็นคนที่เรียนจบเกษตรจากสถาบันเล็กๆ แห่งหนึ่งในญี่ปุ่น แล้วก็สอบราชการ ปักหลักอยู่บ้านเกิด และเป็นเจ้าหน้าที่ที่โดนกลุ่มคนหลงทางอย่างพวกเรา เดินขึ้นออฟฟิศ (สำนักงานต่างจังหวัด) เพื่อไปถามทางในวันนั้น

เขาไม่ใช่คนหน้าตาดี แต่มีรอยยิ้มที่น่าทึ่ง และจากที่ได้คุยอีเมลกัน เรารู้สึกว่า เขาเป็นคนที่ตามหาจุดหมายในชีวิตของตัวเองเจอแล้ว

.
.
สิ่งที่เจอในฤดูร้อนปีนั้นบอกเราว่า
“โตเกียวอาจไม่ใช่หมุดหมายของทุกคน”

.
.
.
.

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เราเพิ่งทำในสิ่งที่ตรงข้ามกับคำเตือนที่รายรอบอยู่ในโซเชียลมีเดียตอนนี้

“ถ้ามีงาน กอดงานไว้ให้แน่น”

เรายื่นใบลาออกจากงาน

ไม่แน่ใจว่าพูดคำนี้ได้ไหม
แต่เชื่อว่า จุดหมายที่ทุกคนตามหา คงมีหน้าตาและพิกัดไม่เหมือนกัน

.
.

และบางที มันอาจไม่ใช่สถานที่,
แต่เป็นผู้คน

meP1080833_Fotor

Categories
Uncategorized

สรุปคอร์สเขียนบท

สรุปคอร์สเขียนบท

หมายเหตุ  : เขียนไว้ตั้งแต่ เมษายน 2561 นะคะ

 

วันนี้เรียนเขียนบทละครโทรทัศน์เป็นคลาสสุดท้าย เรียนไปทั้งหมด 5 ครั้ง รวม 20 ชั่วโมง ขอสรุปไว้ดังนี้แล้วกัน

 

(ถ้าไม่เขียนตอนนี้ ไม่ได้เขียนอีกแน่ๆ)

 

1)เราเคยลงเรียนเขียนบทหนัง ตั้งแต่ยุคที่ทงบังชินกิเพิ่งเดบิวต์ (กรุณาไปเสิร์ชเอาจ้า ว่าทงบังฯ เดบิวต์ปีไหนเนอะ บอกได้แค่ว่า … ชาติที่แล้ว XD) คือเรียนนานมาก ตั้งแต่ก่อนยุคสมาร์ทโฟน ตอนนั้นก็มึนๆ เบลอๆ ด้วยประสบการณ์น้อย เพิ่งเริ่มทำงานเองอ่ะ อายุ 22 ในตอนนั้น ก็เบลอเสียมาก ทฤษฎีต่างๆ นานาคือลืมไปหมดแล้ว ตอนนั้นมีเรื่องหนึ่งที่อยากจะเล่ามาก คือเรื่องที่ไป work & travel ที่อเมริกามาในวัย 22 อยากลองเขียนออกมาเป็นบทหนัง

 

สรุปคือ ไม่เคยเขียนมันออกมาเลย ขนาดหนังสือเกี่ยวกับเรื่องนี้ยังไม่ได้เขียนเลย

 

การลงเรียนเขียนบทหนังครั้งนั้น สิ่งหนึ่งที่จำได้ขึ้นใจคือ “จงให้ตอนจบในแบบที่คนดูอยากเห็น แต่จง surprise พวกเขา”

 

เป็นประโยคที่ยังติดอยู่ในใจมาจนถึงทุกวันนี้

และก็ได้นำมาใช้ในการเขียนบทความต่างๆ อยู่บ้าง … คิดว่านะ

 

2)หลังจากผ่านมา 15 ปี … โห ทงบังชินกิ เดบิวต์มานานขนาดนี้เลยเรอะ … เราก็กลับมาลงเรียนเขียนบทละครโทรทัศน์ … จากแรงยุของมาส นามไม่สมมติ!

 

การตัดสินใจลงเรียนเขียนบทของเรา เกิดขึ้นเพราะมาสจริงๆ แต่ “ความอยาก” ในการเขียนบทของเรา มันเริ่มมาจาก “ฟิกจอยลดา” ล้วนๆ (ฮา)

 

เหตุผลเกิดมาจากว่า พอเราอ่านฟิกจอยลดา เรื่อง #น้องยิ้มจะแซ่บ เราก็อยากลองเขียนฟิกแชท DoTen บ้าง แต่ประเด็นคือ ลองเขียนแล้วก็ไปต่อไม่ได้ พบข้อจำกัดของตัวเองหลายอย่าง ที่ชัดเจนคือเราไม่เก่ง situation กับ dialogue เลย คือ dialogue นี่ชัดเจนมาก เพราะไม่แม่น ไม่ถนัด เลยแต่งจอยไม่ไปเลยไง เพราะจอยมันรันด้วยแชทล้วนๆ 

 

ฟิกในจอยลดาก็เลยเหมือนเป็นกระจกที่มาส่องให้เราเห็นว่าเราขาดอะไรไป และถ้าขาดแบบนี้ เราควรจะเติมไหม ถ้าอยากเติม ต้องทำยังไง ก็เลยไปปรึกษามาส ซึ่งนางเรียนและทำงานสายนี้โดยตรง นางเลยให้ไปลงเรียนไง นางบอกลงเอาทฤษฎี ส่วน creative หลังเรียนจบ ค่อยมาทวงวิชากับนาง (อันนี้ถือว่าประกาศไว้เป็นสัญญาย่อมๆ นะคะทุกคน XD)

 

3)ประจวบเหมาะกับมันมีคอร์สเรียนเขียนบทละครโทรทัศน์ของดรีมบ๊อกซ์เปิดมาช่วงนั้นพอดี

ด้วยจำนวน 20 ชั่วโมง กับค่าคอร์ส 15,000 บาท เราก็คิดหนักนะ แต่นั่นแหละ Education is an investment. โว้ย .. เออ ลงก็ได้

 

4)เราชอบคลาสเรียนอันนี้ เอ็นจอยทุกครั้งที่ได้ไปเรียน แต่ที่ชอบที่สุด คงเป็นองค์ประกอบของชั้นเรียน หรือเพื่อนร่วมคลาสนั่นเอง

 

คลาสนี้หลักๆ มีกัน 5 คน … คือเราคิดว่า คนที่มาลงเรียนมี 3 คนนะ และอีก 2 น่าจะเป็นน้องๆ ที่เกี่ยวข้องกับดรีมบ๊อกซ์ ซึ่งเราว่าการมี 5 คนมันสนุกดี เพราะได้แลกเปลี่ยนมุมมองกันมากขึ้น และได้เรียนรู้จากตัวอย่างบทของคนอื่น

 

เพื่อนร่วมชั้นจะมีต่างคาแรกเตอร์ไป ซึ่งคิดว่าเราได้เรียนรู้อะไรจากประสบการณ์ชีวิตพวกเขาดี

>พี่เอ เป็นวิศวกรใหญ่ แบบตำแหน่งใหญ่โตอ่ะนะ พี่เอชอบดูละครเวที ดูหนัง เคยทำเกี่ยวกับอะไรพวกนี้สมัยเรียนมหาวิทยาลัย ซึ่งก็นานมากแล้ว แต่เหมือนจะติดอยู่ในใจ ว่าอยากเขียนบทให้สำเร็จดู เลยกลับมารีเฟรชตัวเองด้วยคอร์สนี้

 

>อ.รุ้ง เป็น อ.มหาวิทยาลัย แนวๆ ประวัติศาสตร์ เราจำ ม.ไม่ได้ อ.รุ้งก็มีเหตุผลคล้ายๆ กัน คือ มีความฝันว่าอยากลองเขียนบทดู อยากรู้ว่ามันจะแตกต่างจากงานวิจัย หรืองานวิชาการที่ทำไหม เลยมาลงเรียน เพื่อท้าทายข้อจำกัดของตัวเองด้วย อ.รุ้ง เป็นรุ่นน้อง “รอมแพง” คนที่เขียนหนังสือ “บุพเพสันนิวาส”

 

>น้องอาย เด็ก ป.โท Musical  จาก Goldsmith จริงๆ อายจบ ตรีเอกเดียวกันที่  Goldsmith ส่วนมัธยมก็เรียนอินเตอร์ที่ไทย จบ Shrewsbury โรงเรียนเดียวกับน้องเตนล์ NCT!!! ชั้นตื่นเต้นมากทุกครั้งที่เจออาย .. แน่นอน ด้วยเหตุผลว่าอายจบที่เดียวกับเตนล์ 555 #จิตวิญญาณของความติ่ง

 

แม้อายจะเรียนอินเตอร์ แต่อายอ่านวรรณกรรมไทยคลาสสิกเยอะมาก พูดเรื่องอะไรมา อายก็อ่านมาหมดแล้ว เหมือนที่บ้านจะเกี่ยวข้องกับงานด้านละคร(เวที) ด้วยมั้ง ไม่แน่ใจ แต่แนวๆ นี้แหละ คืออายจบ โท Goldsmith ขนาดนี้ไม่ต้องลงเรียนก็ได้นะ แต่อายบอกว่าไม่แม่นเรื่องการเขียนบทละครที่เป็นละครแบบเล่าเรื่องน่ะ อายถนัด Musical แต่คิดว่าการเรียนแบบอื่นจะช่วยให้อายพัฒนา Musical ได้ดีขึ้

 

>น้องมิวสิค เด็กสุด เพราะยังเรียนไม่จบปริญญาตรี มาจากเชียงใหม่เพื่อมาฝึกงานที่ดรีมบ๊อกซ์ เลยจับพลัดจับผลูมาลงเรียนด้วย ความที่น้องเป็นเด็กผู้ชายยุคใหม่ (หมายถึงยุคนี้) น้องเลยมีมุมมองอีกแบบที่ต่างจากเรา พี่เอ อ.รุ้ง ซึ่งมันดี เพราะเราจะได้เรียนรู้มุมมองใหม่ๆ ด้วย มิวสิคเป็นคนที่มีความชอบเรียกได้ว่า (น่าจะ) ต่างจากเรามากๆ เวลาต้องพัฒนาโจทย์ มิวสิคจะเลือกพัฒนาโจทย์ที่ต่างออกไปจากที่เราคิดสุดๆ เช่น น้องพัฒนาโจทย์จากข่าวที่ได้รับ (ข่าวเกี่ยวกับคนทำอาชีพทำความสะอาดบ้านที่มีคนตาย) ออกมาเป็น ซีรีส์บันทึกกรรม มีผีตามหลอก ไรงี้ ซึ่งปกติเราจะไม่คิดอะไรพวกนี้เลย เพราะเรากลัวผี และเราเล่าแนวนี้ไม่ได้ เล่าไม่เป็นเลย แต่มิวสิคเหมือนจะมาสายนี้เลย ซึ่งเจ๋งดี ได้เจอคนที่ตีโจทย์ต่างจากเรามากๆ

 

5)การบ้าน

 

การเรียนทฤษฎี เราว่าหลายคนน่าจะพอหาอ่านจากอินเตอร์เน็ตได้ เรามองว่าการเรียนเขียนบทมันเหมือนงานช่างน่ะ คือมันต้องใช้การฝึกฝนมากกว่า ดังนั้นในส่วนทฤษฎีขอข้ามแล้วกัน คิดว่าทุกคนน่าจะพอเดาๆ ได้ ว่า การเล่าเรื่องมันมีอะไรบ้าง (แต่จะเล่าได้เก่ง มันต้องฝึกเยอะมากๆ น่ะนะ)

 

สิ่งสำคัญของการเรียนช่าง คือต้องฝึก ในที่นี้ก็คือการทำการบ้าน ตามโจทย์ที่ได้รับมา โดยในเวลา 5 สัปดาห์ เราก็ได้รับโจทย์กันประมาณนี้

 

>โจทย์แรก คือ ข่าวในญี่ปุ่น เรื่องคนที่ทำอาชีพเก็บกวาดห้องพักหลังจากมีคนตาย (ลองเสิร์ชดูก็ได้ มันจะมีข่าวและบทสัมภาษณ์คนทำอาชีพนี้ที่น่าสนใจมาก)

โจทย์คือ เราทุกคนต้องเขียนโดยสมมติว่าเราเป็นคนทำอาชีพนี้ แล้วต้องเข้าไปทำความสะอาดในห้องที่ใครสักคนตาย แล้วเจอของ 5 ชิ้นที่อาจจะบรรยายลักษณะของคนคนนี้ หรือเป็นของที่ทำให้เกิดเรื่องราวต่อไป

 

จากโจทย์นี้ บางคนก็พัฒนาพล็อตไปแบบบันทึกกรรมวัยรุ่น (น้องมิวสิค) บางคนก็กลายเป็นโรแมนติกคอมเมดี้น่ารักโดยมีฉากหลังเป็นลอนดอน (น้องอาย) บางคนนำเรื่องลัทธิโอมชินริเกียวมาเกี่ยวข้อง (พี่เอ) ของ อ.รุ้ง เราจำไม่ได้ ของเราทำโง่ๆ ง่ายๆ คืนเดียว 55 โดยยึดข่าวเรื่องที่นักแสดงเกาหลีคนที่โดนกรณี MeToo แล้วฆ่าตัวตาย ส่วนคนที่เป็นตัวเมนหลัก (ทำความสะอาดแล้วเจอเบาะแส) คือ สิบทิศ ซึ่งชั้นตั้งชื่อตามชื่อเตนล์ ในฟิกจอยลดาาาาาา ฮา #เพราะเป็นติ่งจึงทำเช่นนี้

 

>โจทย์สอง

ได้รับโจทย์ให้อ่านบทละครเวที “กุหลาบสีเลือด” ที่เคยทำออกมาแล้ว 2 เวอร์ชั่น (ตั้งแต่ยุค สิริยากร พุกกะเวส ยันยุค ป๊อก ปิยะธิดา อ่ะนะ) โจทย์หลักๆ คือ เขียนซีนเปิด จะเปิดอย่างไหนก็ได้ จะเลือกตัวละครหลักเป็นตัวอื่นในการดำเนินเรื่องก็ได้ (คือรื้อใหม่ได้)

 

ความน่าสนใจตอนนั้นคือ บุพเพสันนิวาส ดังมาก เราก็เลยคุยกันเรื่องการปรับบทละครจากหนังสือ ว่าบทละครเขาปรับส่วนไหนบ้าง บทเปิดในบทละครต่างจากหนังสือเยอะไหม คุยกันมากเข้า ก็เลยพาลอยากดูบุพเพฯ เลยได้ดูในที่สุด ฮา

 

>โจทย์สาม ให้คิด Original Plot มาเอง เขียนพล็อตให้จบ (แต่ไม่ใช่ ทรีตเม้นท์ นะ) ซึ่งอันนี้ เราควรจะพัฒนาเป็นบทออกมาให้จบด้วยในภายหลัง ถ้ามีแรงเหลือน่ะนะ

 

วีคที่เป็น Original Plot น้องอายกับมิวสิคไม่ได้เข้า เพราะติดงาน เลยมี 3 คนมาส่งการบ้าน และถกกัน

โดยแต่ละคนจะมีพล็อต (แรก) เป็นดังนี้

พี่เอ – เป็นเรื่องที่ได้รับแรงบันดาลใจจากอาชีพการงานของตัวเองส่วนหนึ่ง เรื่องการเห็นกลโกงการซื้อที่ คำถามถึงว่าอะไรคือการคอรัปชั่น ถ้าคนทำผิดคิดกลับใจจะได้ไหม พล็อตพี่เอ จะมีตัวละคร Angel คล้ายๆ Meet Joe Black ที่มาให้โอกาสตัวเอกได้แก้ไขและกลับตัวกลับใจก่อนตาย

 

อ.รุ้ง- อ.รุ้งเริ่มจากโจทย์ในใจที่อยากเล่าเรื่อง ตึกถล่มที่โคราช ซึ่งเป็นข่าวดังมากเมื่อยี่สิบกว่าปีก่อน อ.รุ้งเป็นคนโคราช และรู้สึกเยอะกับเหตุการณ์ครั้งนั้น เลยพัฒนามาเป็นพล็อตของนักธุรกิจที่เป็นเจ้าของตึก ซึ่งได้อยู่ในตึกวันที่ถล่มด้วย ระหว่างความเป็นความตาย มียมทูตปรากฏตัว และให้โอกาสคนนี้เลือกช่วยชีวิตคนดีในตึกได้ 3 คน เพื่อแก้ไขความฉ้อโกงไม่ดีต่าง ๆที่เขาทำมา อย่างน้อยก็แบ่งเบา โดยมีเดิมพันว่า ลูกสาวเขาที่อยู่ในวัยมัธยมที่ติดอยู่ในตึกด้วย ก็จะรอดชีวิต

 

พล็อตของพี่เอกับ อ.รุ้ง จะไปในแนวทางเดียวกันมาก

 

ส่วนของเรา เป็นรอมคอมใสๆ … เรื่องผู้หญิงใกล้ 40 ฮา … โอ้ย ใกล้ตัวมาก อย่าให้เล่าเลย อาย

 

>โจทย์สี่

 

ให้เขียนบทฉากเปิดจาก Original Plot โดยเขียนหลายๆ ซีนมาจนถึงจุดที่เรียกว่า Point of Attack คือประมาณว่า จุดที่เป็นชนวนของปม หรือเปิดเผยให้เห็นความต้องการของตัวละครหลัก หรือเป็นจุดหักเหก็ได้มั้ง (ไม่รู้อธิบายว่าไงดี) อย่างในบุพเพสันนิวาส Point of Attack ของเรื่อง ก็คือ ซีนที่เกศสุรางค์ เข้าไปอยู่ในร่างการะเกด คือย้อนเวลากลับไป ก่อนจะเกิดเรื่องราวต่างๆ มากมาย เป็นต้น

 

โจทย์สี่ พี่เอ กับ อ.รุ้ง พัฒนาจากพล็อตได้ดีมาก ส่วนของเราก็ตามมีตามเกิดค่ะ ฮา แต่ดีใจที่มีคนชมว่า น่ารัก เรื่องนี้ต้องพัฒนาจาก “ตัวละคร” เป็นหลัก ซึ่งต้องทำคาแรกเตอร์ให้แน่น คงต้องไปทำงานอีกเยอะกว่าจะแน่นได้ ฮา

 

ส่วนของอาย อายเล่าเรื่องรอมคอมคล้ายกัน แต่เป็นพล็อตนักกีฬา Dancing Skaters ที่แบบเต้นคู่กันอ่ะ แล้วเป็นคู่จิ้นแชมป์โลก ประสบความสำเร็จด้วยกันตั้งแต่เด็ก เลยเหมือนดีลกับ relationship อย่างอื่นไม่เป็นแล้ว เพราะเจอแต่กันและกัน (เพราะต้องซ้อมด้วยกัน) มันเลยเหมือนคู่จิ้นที่อีกฝ่ายหลงรักอีกฝ่าย แต่อีกฝ่ายอยากรักษา professionalism ด้านกีฬา เลยเลือกที่จะไม่คบกัน เพราะรู้ว่ามันจะทำลายสิ่งที่สร้างกันมา (ก็คือ อาชีพนักกีฬา dancing skate) อันนี้อิงจากนักกีฬาคู่ขวัญจริงๆ ของแคนาดาส่วนหนึ่ง

 

เราชอบปม การดีลกับ relationship อย่างอื่นไม่เป็นเพราะตลอดชีวิตคือมัน (ต้อง) เจอแต่คนคนเดียวมาตลอดมากๆ .. ทีนี้ มันเลยขนาดเรื่องไปต่อในระดับที่ว่า ไอ้ความรู้สึกที่คิดว่า “จริง” น่ะ มัน “จริง” ไหม หรือมันแค่เพราะไม่เคยรู้จักสิ่งนี้กับคนอื่นๆ น่ะ

 

จริงๆ น้องไม่ชอบเรื่องนี้นัก คือมันต้องพัฒนาอีกมากแหละ แต่เราชอบปม และชอบการเล่นกับอาชีพนักกีฬา Dancing skate มาก (ที่ความสำเร็จคือต้องมาเป็นคู่ ไม่ใช่เดี่ยว)

 

เรื่องของมิวสิค จะเป็นเรื่อง bug on earth คิดเป็นซีรีส์ตอนสั้นๆ 15 นาที ที่เล่าได้หลายๆ ตอน ภายใต้ธีมหลักเดียวกัน bug on earth มันจะตีความมาจาก “บั๊ก” ในคอมพิวเตอร์น่ะ ที่วามันจะมี “บั๊ก” คล้ายๆ ข้อผิดพลาด หรือตัวก่อกวน ประมาณว่า ดวงไม่ดีก็ได้ ทีนี้ ชีวิตจริงคนเราก็จะเจอ “บั๊ก” หรือข้อผิดพลาดอยู่แล้ว แต่ “บั๊ก” อันนี้มันจะคล้ายๆ กับ super natural บางอย่างอ่ะ แต่มาในรูปแบบ เช่น บุหรี่มวนสีดำ ที่สูบแล้วจะเกิดอะไรบางอย่างกับชีวิต เช่น ทะเยอทะยานมากขึ้น เป็นต้น ซึ่งฟังแล้ว ทำให้ความรู้สึกว่า บันทึกกรรม ดี … ซึ่งเป็นแนวทางที่เราไม่มีวันคิดได้ แต่ดีใจที่ได้เรียนร่วมกับคนที่ เออ เขาคิดต่างจากเราดี

 

> สรุปแบบงงๆ แล้วกัน ว่าชอบคอร์สนี้ และแน่นอน เราต้องฝึกอีกเยอะ ซึ่งระหว่างนี้ คงฝึกด้วยการอ่านฟิกจอยลดาเป็นหลักแล้วกัน

 

อ้าว…มรึงงงงงง

 

#ขอให้น้องเตนล์มีความสุขได้ในสิ่งที่อยากได้นะคะ จบ.

Categories
2019 Everyday Blog daily discover experience

จดหมายจากบ้านยานากะ ปีเรวะที่ 1

“ขอบคุณพี่ติ๊กต่อกมากๆ เลย ที่ให้แตงมาอยู่ห้องนี้ต่อ เพราะมาอยู่ห้องนี้ แตงเลยได้เจอกับแฟน”

แตง หรือ หมอแตง พูดด้วยเสียงเพราะๆ ช้าๆ แบบที่แตงทำเป็นปกติตั้งแต่ครั้งแรกที่เจอกัน ฉันเจอแตงครั้งแรกที่บ้านยานากะ เพราะฉันต้องย้ายออก แล้วต้องหาคนมาเช่าต่อ แต่เงื่อนไขเชิงวัฒนธรรมของบ้านยานากะมันซับซ้อนน่ะ บ้านนี้เจ้าของบ้านเป็นคนญี่ปุ่น แต่ทั้ง 5 ห้องถูกครอบครองโดยคนไทยมาหลายต่อหลายรุ่น ชั้นล่างของบ้านเป็นห้องที่ผู้ชายสองคนอยู่ ชั้นบนมีสามห้อง และตามขนบที่ส่งต่อกันมา ก็ต้องเป็นผู้หญิงมาอยู่ต่อเท่านั้น (อันนี้คือขนบที่คิดกันเองน่ะนะ ไม่ได้เขียนเป็นลายลักษณ์อักษร)

ที่สำคัญ คนมาอยู่ต่อต้องทำสัญญาเช่าห้องอย่างน้อย 2 ปี

ฉันเจอแตง เพราะแตงซึ่งเป็นหมอ ดันลงเรียนวิชาเดียวกับเพื่อนคณะฉัน (ซึ่งฉันยังงงทุกวันนี้ว่าทำไมลงเรียนวิชาเดียวกันได้)
ลินด์เซย์ซึ่งเป็นคนฟิลิปปินส์เป็นคนแนะนำให้เราสองคนรู้จักกัน

แตงได้ทุนมาเรียนต่อเอก แต่ก็ต้องสอบอะไรสักอย่างให้ผ่านก่อนถึงจะได้เรียนเอกแบบเต็มตัว ระหว่างนั้นก็ถือว่าทำวิจัยไปพลางๆ พอรู้ว่าแตงมาต่อเอก ฉันก็โล่งไปเปลาะใหญ่ เพราะหมายถึงแตงต้องอยู่ที่โตเกียวอย่างต่ำ 3 ปีแน่ๆ … และแตงเป็นผู้หญิง (ใช่สิ) แถมแตงยังเป็นคนไทย (ใช่สิ) ไม่มีอะไรเข้าแก๊บไปกว่านี้ แตงคือผู้สืบทอดห้อง 203 ของบ้านยานากะ!

วันแรกที่เราเจอกัน แตงนั่งพับเพียบในห้อง แตงมากับน้องผู้ชายอีกคนที่เคยช่วยอาจารย์ที่ธรรมศาสตร์ทำวิจัย เราสามคนเลยคุยกันเรื่องอิสาน เรื่องเลยมาโป๊ะแตกว่า แตงเคยไปใช้ทุนเป็นหมอที่เขาวงด้วย … และเขาวงคือบ้านเกิดของฉันเอง

หลังจากนั้นฉันน่าจะได้เจอแตงอีกแค่ครั้งหรือสองครั้งนี่แหละ … แต่เหมือนเส้นด้ายแห่งโชคชะตาจะผูกพันเราไว้ย่อมๆ ทุกครั้งที่กลับมาโตเกียว ฉันมักแวะมาหาแตงเสมอ

ครั้งล่าสุดที่แวะมาหาแตง แตงก็พูดประโยคข้างบนสุดนั้นให้ฟัง ด้วยน้ำเสียงที่บ่งบอกถึงความขอบคุณอย่างสูง

บ้านยานากะที่พวกเราอยู่นั้น ตั้งอยู่ในเขตไทโตะ แต่เป็นปลายไทโตะที่ติดกับเขตบุนเคียวมากๆ มหาวิทยาลัยโตเกียว วิทยาเขตฮนโกะนั้นอยู่เขตบุนเคียว ฉันจำแม่นมากว่าตอนหาห้องพัก ติวเตอร์ที่มาดูแลฉันย้ำแล้วย้ำอีกให้หาห้องพักในเขตบุนเคียว เพราะจะได้ไม่ต้องยุ่งยากเรื่องการย้ายเขต แต่ด้วยความที่บ้านยานากะอยู่ปลายขอบของไทโตะ ฉันเลยเข้าใจผิดว่ามันอยู่บุนเคียว สุดท้าย…ก็เลยโดนติวเตอร์ตัวเองบ่นนิดหน่อย (เออ…แต่ตอนย้ายเข้าเขต ฉันไปทำเรื่องคนเดียวนี่นา ติวเตอร์ไม่ได้ไปด้วยซะหน่อย แล้วนางจะมีสิทธิมาบ่นอะไรมิทราบ เฮอะ)

กลับมาที่เรื่องแตงต่อ

ที่ต้องพูดถึงเขตไทโตะ เพราะการที่บ้านยานากะดันอยู่เขตไทโตะนี่แหละที่ทำให้แตงได้เจอกับแฟน ถ้าบ้านยานากะขยับมาอีกไม่กี่เมตร แล้วตกร่องปล่องชิ้นอยู่ในเขตบุนเคียวแล้วล่ะก็ เรื่องราวมันอาจเปลี่ยนเป็นอีกอย่างแหละมั้ง

เพราะอยู่เขตไทโตะ แล้วแตงอยากหาอะไรทำ แตงเลยไปสมัครเป็นสมาชิกชมรมยิงธนูของเขตไทโตะ ซึ่งฉันเคยเห็นแตงเขียนถึงในบล็อกอยู่ช่วงหนึ่งแหละไอ้การหัดยิงธนูนี่ แน่นอนว่าในชมรมยิงธนูที่แตงไป แตงได้เจอรุ่นพี่คนหนึ่ง ซึ่งเป็นคนที่ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับมหาวิทยาลัยโตเกียวที่แตงเรียนอยู่เลย แต่นั่นแหละ รุ่นพี่คนนี้ก็มาสอนแตงยิงธนูบ้าง และมีกิจกรรมร่วมกันบ้าง คุณต้องจินตนาการถึงชีวิตของคนในวัย 30 อัพสองคน ที่ต่างเชื้อชาติ และต่างภูมิหลัง แต่มีความชอบในการยิงธนูมาเชื่อมโยงกัน นั่นแหละเรื่องราวของแตง

ซึ่งเอาจริงๆ … ฉันก็ยังงงจนกระทั่งตอนนี้ ว่าแล้วมันเกี่ยวอะไรกับฉัน แล้วทำไมแตงต้องมาขอบคุณฉันด้วย

เหตุผล หรือจะเรียกว่า โชคชะตาที่ทำให้ฉันได้เจอกับแตง
กับเหตุผล หรือจะเรียกว่า โชคชะตาที่ทำให้แตงได้เจอกับแฟนนั้น ฉันคิดว่า มันไม่เกี่ยวกันหรอก

โชคชะตาของแตง ก็คือโชคชะตาที่แตงสร้างเอง และไม่เกี่ยวอะไรกับการย้ายมาอยู่ห้องนี้ต่อจากฉันทั้งนั้นแหละ

แต่ฉันก็ยังดีใจที่เราได้เจอกัน

การกลับไปบ้านยานากะและได้เจอแตงอีกครั้ง ถือเป็นหนึ่งในโมเม้นท์ที่ดีที่สุด ของปีเรวะที่ 1 ของฉันเลยล่ะ

สวัสดีเรวะ
เจอกันเสียที
ฝากเนื้อฝากตัวด้วยนะ

โตเกียว, ฤดูฝน, ปีเรวะที่ 1

y

Categories
Read

[read] รีวิว “ผู้ได้รับบาดเจ็บ” ฟิกแชทจอยลดา ที่พูดถึงเรื่องการเมืองไทย

 

62228441_1625909740887181_1287339511226826752_n

 

#ปรัชญาชีวิตในฟิกจอย

“ผู้ได้รับบาดเจ็บ” โดย Seeme

ในช่วงสัปดาห์ที่ผานมา ได้อ่านนิยายวายจบ 2 เรื่อง (จริงๆ คือ นิยาย 1 เรื่อง และฟิกจอยอีก 1 เรื่อง) ซึ่งเรื่องแรกนั้นแม้จะมีฉากหน้าเป็นเรื่องปาฏิหาริย์กุ๊กกิ๊กชวนจิ้นชวนฟิน แต่ทางเดินที่นิยายพาไป ก็คือทิศทางที่พยายามจะขุดคุ้ยถึงผลกระทบของคำว่า “อำนาจนิยม” ในสังคมไทย พร้อมกับพยายามตั้งคำถามถึงบาดแผลที่กระทบต่อตัวละครซึ่งเป็นตัวเล็กๆ ในเรื่อง …​ในระดับครอบครัว

แต่จริงๆ แล้ว ด้วยอะไรหลายๆ อย่าง ทำให้ถึงเราจะเอ็นจอยกับนิยายเล่มนั้น แต่คิดว่าการวิพากษ์ที่นิยายพยายามก้าวไป มันดู “ตรง​” ไปหน่อย (ซึ่งเข้าใจได้ว่าผู้เขียนตั้งใจเช่นนั้น) พออ่านเล่มนั้นจบลง เราเลยคิดถึงฟิกจอยลดาอีกเรื่อง ที่จะถือว่าเป็น “วาย” ก็ได้ หรือจะ “ไม่วาย” ก็ยังได้ (เพราะจริงๆ ตัวละครหลักในเรื่อง เป็น ชาย/หญิง/ชาย ) ซึ่งเรื่องนี้ตั้งแต่บทแรกก็ค่อนข้างชัดเจนแล้ว ว่าผู้เขียน (หรือไรท์เตอร์) ตั้งใจเล่าถึงการเมืองไทย

เพราะกรุ๊ปแชทในบทแรกที่ปรากฏในฟิกจอยลดาเรื่องนี้ (ซึ่งดำเนินไปในลักษณะฟิกแชท (ไลน์)) คือ กรุ๊ปที่ตั้งชื่อว่า “ไม่คุยเรื่องการเมือง”

>น็อต คือตัวละครหลักในเรื่อง เธอเป็นสาวออฟฟิศที่มีแววจะได้รับโปรโมทให้ขึ้นเป็นผู้จัดการฝ่ายในเร็ววัน ด้วยภูมิหลังครอบครัวที่มีพ่อไปยุ่งเกี่ยวกับการเมืองช่วง 6 ตุลา 19 ทำให้ครอบครัวน็อตเหลือแค่ตัวเธอกับแม่ และในมุมมองของน็อตก็คือ การยุ่งกับการบ้านการเมืองทำให้ครอบครัวเธอลำบาก เธอไม่มีปัญญาผ่อนรถเหมือนคนอื่น ก็เพราะเธอต้องหาเงินมาจ่ายหนี้บ้าน (ที่น่าจะเป็นผลพวงมาจากเหตุการณ์ที่เกิดกับพ่อเธอ) ในความทรงจำวัยเด็กของน็อตส่งผลมาถึงมุมมองในการเลือกใช้ชีวิตของเธอในปัจจุบัน

และปัจจุบันในบทแรกสุดของฟิกเรื่องนี้…ก็เริ่มต้นในช่วงสัปดาห์ก่อนการเลือกตั้ง ใน พ.ศ. 2562

ใช่แล้ว เส้นเรื่องของเรื่องนี้เริ่มต้นในช่วงการเลือกตั้งที่กำลังดุเดือด และกรุ๊ปแชทที่มีชื่อว่า “ไม่คุยเรื่องการเมือง” ก็เต็มไปด้วยการแซะกันถึง “ควายแดง” “ติ่งส้ม” “สลิ่ม” “ลิเบอร่าน” “พันธมิตร” เต็มไปหมด

โดยมีน็อตคอยเบรก (และกรี๊ดร้องหาความสงบเป็นครั้งคราว)

>นัท
นัทเป็นตัวละครที่ไม่ได้โผล่มาในปี 2562 แต่นัทโผล่มาให้เราเห็นในช่วงปี 2557 (จริงๆ ก็มาก่อนหน้านั้น) สิ่งที่เรารู้คร่าวๆ เกี่ยวกับตัวนัท คือเขาเป็นชายหนุ่มที่หน้าเหมือนน็อต มีแม่ชื่อ “ดวงใจ” อันเป็นชื่อเดียวกับแม่น็อต แต่เหมือนสองคนนี้จะไม่ได้เกี่ยวข้องกันเลย

แถมนัทยังเป็นคนที่น่าจะอยู่ด้านตรงข้ามกับน็อต

เพราะนัทเป็นคนที่รณรงค์กิจกรรมการเมืองจนเกือบถูกจับติดคุก

ในปี 2557 ละครเวทีที่นัทเคยมีส่วนร่วมเขียนบท ถูกหมายหัวจากภาครัฐว่าเป็นละครเวทีที่มีเนื้อหาหมิ่นเหม่ต่อความมั่นคง ภายใต้รัฐบาลทหารในขณะนั้น นัทในฐานะนักศึกษาธรรมศาสตร์ มีสิทธิ์สูงมากที่จะถูกจับ คุมขัง และอาจจะต้องโดนอะไรก็ไม่รู้อีกมากมายตามมา…เป็นเวลาหลายปี … นัทยอมเลือกจะหนีออกจากประเทศไทย ไปสมทบกับพรรคพวกที่หนีออกนอกประเทศไปก่อน เส้นทางที่นัทหลบหนีคือเส้นทางที่ต้องผ่านป่าในประเทศกัมพูชา อันมีตำนานเล่าว่ามีผู้คนพลัดหลงและสูญหายไปอย่างไม่รู้สาเหตุ

นัทพลัดหลงและสูญหายไปในตอนนี้

ก่อนนัทจะหายไป นัทได้แชทคุยกับแต๊ง…ชายคนรักของนัท
ผู้ซึ่งเป็นลูกหลานตระกูลใหญ่ในเมืองไทย

-แต๊ง
ในปี 2562 แต๊งในฐานะบัณฑิตปริญญาโทจากเมืองนอก กลับมาทำงานที่เมืองไทย พร้อมกับกลายเป็นคู่แข่งในการชิงตำแหน่ง “ผู้จัดการ” กับน็อต – สาวรุ่นพี่ที่ทำงานมาก่อนหลายปี

แต๊งถูกจับตาจากคนในออฟฟิศในฐานะ “ลูกเจ้าของ” “เส้นใหญ่” และอื่นๆ อีกมากมาย แต่สิ่งที่แต๊งทำเมื่อเข้ามาบริษัทวันแรก คือขอให้เกิดการแข่งขันกันอย่างเป็นธรรมในการชิงตำแหน่ง “ผู้จัดการ” โดยแต๊งจะขอเป็นผู้ช่วยน็อตในระหว่างนี้ และหากเวลาผ่านไปในตามเงื่อนไข ให้มาพิจารณาผลงานกันอีกที ว่าใครจะเหมาะสมกว่าใคร

ก่อนที่แต๊ง-ซึ่งเพิ่งได้คุยแชทกับน็อตครั้งแรก-จะทิ้งท้ายบทสนทนาว่า “พี่น็อตเคยแปลงเพศมาก่อนหรือเปล่าครับ”

เพราะน็อตกับนัทหน้าตาเหมือนกันมาก

สิ่งเดียวที่ต่างออกไป คือน็อตไม่ยุ่งกับการเมือง
ขณะที่นัทยุ่งกับการเมืองจนต้องสาบสูญไปในป่าเมื่อปี 2557

– “ผู้ได้รับบาดเจ็บ” เป็นฟิกที่พาคนอ่านย้อนอดีตโยนเราเข้าสู่สถานการณ์ปัจจุบัน (อย่างการเลือกตั้ง 62) และพาเราเข้าสู่อนาคตในอีกหลายสิบปีข้างหน้า เมื่อแต๊งเติบโตขึ้นกว่าเดิม …​และเลือกเดินตามเป้าหมายที่ตั้งใจไว้ตั้งแต่ปี 2557 นั่นคือ การตั้งพรรคการเมืิองที่แต๊งกลายเป็นหัวหน้าพรรค

ในอนาคตที่จะเกิดขึ้น น็อตก็ยังเป็นน็อต ที่ยังไม่ยุ่งกับการเมือง น็อตเป็นน็อตที่เก็บเงินและพาตัวเองไปตั้งบ้านอยู่ที่ภาคเหนือของประเทศไทย แต่ขณะเดียวกันน็อตก็ยังเป็นน็อตที่คอยตามข่าวของแต๊ง และให้กำลังใจแต๊งอยู่เงียบๆ เสมอ

“ผู้ได้รับบาดเจ็บ”​ ไม่ได้จบลงตรงนี้ และไม่ได้มีแค่ตัวละคร 3 ตัวนี้เท่านั้น แต่ยังมีตัวละครที่รายล้อมอีกมาก

ในแชทแรกๆ ที่เราเห็นน็อตคุย มีแชทหนึ่งที่น็อตคุยกับรุ่นน้องในบริษัท โดยน็อตไปเตือนรุ่นน้องว่า เธอรู้ว่ารุ่นน้องมีแอคเคาน์ทวิตเตอร์ และโพสอะไรหัวรุนแรงเกี่ยวกับการเมืองเยอะ เธอเป็นห่วง และอยากให้เขาเลิกเสีย แต่รุ่นน้องบอกว่า นั่นคือสิทธิในการแสดงออกของเขา และอีกอย่าง แอคเคาน์นั้นก็เป็นแอคหลุม…ที่คนโยงมาหาเขาไม่ได้ด้วยซ้ำ แต่น็อตรู้เพราะเธอดันขอยืมคอมเขาใช้

น็อตบอกรุ่นน้องไปในวันนั้นว่า ในอนาคต อาจมีคนขุุดคุ้ยเรื่องเหล่านี้ขึ้นมา และเขาไม่รู้หรอกว่ามันจะส่งผลกับเขาอย่างไร

ในอนาคต รุ่นน้องของน็อตในวันนั้น ร่วมอุดมการณ์เดียวกับแต๊งในการก่อตั้งพรรคการเมือง

และในอนาคตอีกเช่นกัน ที่มีคนไปขุดแอคเคาน์นั้นในทวิตเตอร์ขึ้นมา และทำให้รุ่นน้องคนนั้น ไม่สามารถอยู่หน้าฉากในพรรคการเมืองกับแต๊งได้อีกต่อไป และเขาทำได้แค่เพียงให้ความช่วยเหลือหลังฉากเท่านั้น

ในตอนท้ายๆ ของเรื่อง…ในฉากอนาคต…รุ่นน้องคนนั้นบอกว่า สิ่งที่น็อตเคยพูดกับเขาในวันนั้น มันเกิดขึ้นจริงทุกอย่าง

-“ผู้ได้รับบาดเจ็บ” เป็นเรื่องราวที่หน้าฉากเหมือนจะเล่าเรื่องของน็อต ความรัก และการผิดหวังในความรักของเธอ … เธอคือคนที่ได้รับบาดเจ็บจากความรักที่ผิดหวัง

แต่จริงๆ แล้ว “ผู้ได้รับบาดเจ็บ” อาจไม่ได้หมายถึงแค่น็อต แต่หมายถึงทุกคนที่อยู่ตรงนี้…ในวังวนที่วนลูปและไม่มีทางออก…

-และแม้ Seeme จะบอกว่ามันคือเรื่องแต่ง
และแม้มันจะเป็นฟิกแชทในจอยลดา

แต่ถ้าในปีนี้ จะมีเรื่องเล่าที่วิพากษ์สังคมการเมืองได้ดีเรื่องหนึ่ง

มันอาจเป็นฟิกวายจากจอยลดาเรื่องนี้แหละ

“ผู้ได้รับบาดเจ็บ”

Link: https://www.joylada.com/story/5caf5b7d7cda0b000172b7e8