Categories
Thought Uncategorized

media/สื่อบันเทิง กับ อิทธิพลในการเปลี่ยนแปลงสังคม

108025891_2029946587150159_6840497726197579537_n

ออกตัวก่อนว่า ไม่อยากใช้คำว่า soft power ในการเขียนเรื่องนี้ เพราะเรารู้สึกว่า soft power มันต้องมาพร้อมกับนโยบายหลักของรัฐที่ส่งเสริมเรื่องนั้นๆ ซึ่งของไทย ถ้าไม่นับหนังแนว “สุริโยไท” เราว่า รัฐไทยแทบจะทำตัวเป็นอุปสรรคของการเติบโตของ media/สื่อบันเทิง ด้วยซ้ำ

เรื่องมันมาจากข้อมูลชุดหนึ่งที่เราได้ยินตอนที่ทำงานอยู่ สสส.​ (ทำ 6 เดือน ตั้งแต่ ต.ค. 2015 – มี.ค. 2016 ก่อนออกไปทำงานลงพื้นที่อิสาน) นั่นคือ ชุดข้อมูลที่ว่า มีการยอมรับในหมู่คนทำงานประเด็น HIV กันว่า ซีรีส์เรื่อง Hormones ซีซัน 3 ตอน พละ นี่ เป็นหมุดหมายสำคัญที่สร้างความเข้าใจอย่างใหญ่หลวง จนนำมาสู่การเปลี่ยนผ่านไปสู่การยอมรับ “ว่าเราอยู่ร่วมกันได้” แบบมีนัยยะสำคัญ

ซึ่งเคสนี้ (เคสเรื่องอิทธิพลของซีรีส์เรื่องนี้ ต่อการเปลี่ยนมุมมองของสังคม และการนำไปสู่ action = การยอมรับ และโอบรับด้วย) ถ้าเราจำไม่ผิด เหมือนคนที่เกี่ยวข้องกับซีรีส์เรื่องนี้ อย่าง ปิง ก็ไม่เคยออกมาปฏิเสธนะ (หมายถึง ปิงก็ยอมรับพลังของซีรีส์เรื่องนี้ต่อวงการที่ขับเคลื่อนเรื่อง HIV อ่ะ)

>>ถึงตอนนี้ ถ้ามีพี่ๆ ท่านไหนใน สสส.​มีชุดข้อมูลอื่น ก็ทักได้เลยนะคะ
หรือคนที่ทำงานซีรีส์เรื่องนี้กับ ปิง ถ้ามีชุดข้อมูลอื่น ก็ทักได้เช่นกันค่ะ<<

ตอนที่เรารู้ชุดข้อมูลนี้อ่ะ เราตื่นเต้นมาก นั่นคือปลายปี 2015 อ่ะ เราเพิ่งเรียนจบจาก โตได ทำงานที่ สสส. เป็นที่แรกหลังเรียนจบโท แล้วเรารู้สึกว่า อันนี้มันเปิดโลกจัง…ถ้าอยากขับเคลื่อนสังคม บางที media/สื่อบันเทิง ก็อาจจะเป็นตัวขับเคลื่อนหนึ่งที่ทรงพลังสินะ

แต่การได้รับรู้ชุดข้อมูลนี้ แล้วเราตื่นเต้น ก็ไม่ได้หมายความว่า เราเพิกเฉยต่อการทำงานของกลุ่มองค์กรต่างๆ ที่ทำงานประเด็น HIV มาตลอดกว่า 30 ปี … ถามว่า แล้วก่อนหน้าซีรีส์ Hormones คือการทำงานของภาคส่วนอื่นในสังคมล้มเหลวเหรอ? ก็คือ “ไม่ใช่” มันคือ ส่วนสำคัญที่ค่อยๆ ต่อยอดกันน่ะ (ถ้าจำไม่ผิด เหมือนก่อนจะผลิตตอนนี้ ปิงก็เก็บข้อมูลเยอะอยู่ด้วยการสอบถามหลายๆ นักกิจกรรมในแวดวง)

ถามว่า แล้วงานวิจัย งานสื่อ งานรณรงค์อื่นๆ (งานโปสเตอร์ งานนั่นนี่) มันไร้ค่าเหรอ ก็ไม่เลย … มันคือฐานรากที่สำคัญด้วยซ้ำ … และเอาจริงๆ งานเหล่านี้ (เช่น แผ่นพับที่ อสม. อาจจะนำไปแจกตามชุมชน) มันจำเป็นด้วยซ้ำ มันไม่ได้ไร้ค่าเลยอ่ะ

ทีนี้ช่วงปลายปี และต้นปีที่ผ่านมา คนไทยตื่นเต้นกับ หนัง Parasite มาก รวมถึงตื่นเต้นกับพัฒนาการหลายๆ อย่างของซีรีส์เกาหลี แล้วมีการพูดกันเยอะมากขึ้น (จากเดิมที่ก็พูดกันอยู่แล้ว แต่ในวงจำกัด) เรื่องบทบาทของสื่อบันเทิง อิทธิพล ที่มันเปลี่ยนแปลงสังคม หรือขับเคลื่อนประเด็นบางอย่าง ไปสู่เส้นที่มันค่อยๆ โอเคขึ้น

เรามีเพื่อนหลายคนทำงานในวงการ media/รวมไปถึง สื่อบันเทิง เรายังเชื่อว่า (อาจจะเชื่อ เพราะได้รับชุดข้อมูลสมัยอยู่ สสส. ตอนนั้น) ​medai+สื่อบันเทิง มีอิทธิพลที่จะขยับเขยื้อนสังคมได้จริงๆ … สิ่งที่เราทำอาจจะไม่ใช่เรื่องที่มันปังเป็นกระแสระดับประเทศ แต่ตอนที่เราทำสิ่งนั้น มันอาจะเป็น “พื้นฐาน” ที่สำคัญที่รอวันคนอย่าง ปิง หรือแนวนี้มาหยิบไปต่อยอดก็ได้น่ะ

ดังนั้น เราเลยไม่แอนตี้ ไม่เบลอใส่งานเล็กๆ งานอินดี้ หรืองานนอกกระแส เพราะรู้ว่ามันก็มีคุณค่าบางอย่าง
ขณะเดียวกัน เราก็ไม่แอนตี้ เบลอใส่ งานใหญ่ๆ งานแมสๆ ด้วย …

เพราะดอกผลของมัน อาจจะมากมาย…เมื่อมันได้รับปุ๋ย น้ำ และอากาศที่เหมาะสม

มันอาจจะขับเคลื่อนสังคมได้จนแม้กระทั่งเรายังต้องร้องว้าวเลยด้วยซ้ำ

 

Categories
Seen Thought

[seen] หน่าฮ่าน

 

59964820_10213762147278849_582828423571832832_n

 

หน่าฮ่าน (2562, ฉันทนา ทิพย์ประชาติ)

เรารักทุกอย่างที่ประกอบรวมเป็นหนังเรื่องนี้

ตั้งแต่การแคสนักแสดงที่ไม่ได้ดูโดดเกินจากชีวิตจริงมากนัก เรารักที่ยุพิน ตัวละครเอกของเรื่องไม่ได้เป็นเด็กอีสานที่สวยเกินไป (คือนางน่ารักเว้ย แต่นางไม่ใช่แบบ ใบเฟิร์น ในเรื่อง “สิ่งเล็กๆ ที่เรียกว่ารัก” อ่ะ)

พอๆ กับที่เรารักการแคสตัวละคร “อ้ายสิงโต” มาก ที่มีความหล่อแบบไทบ้านพอดี เป็นคนที่เรารู้สึกว่าเป็นเด็กอีสานที่หน้าตาดี แต่ก็ไม่ใช่ขนาด ณเดชน์, รุจ เดอะสตาร์ อะไรเทือกนั้น

ซึ่งมันจริงมาก…มากจนทำให้เราร้องไห้ออกมาไม่รู้ตัวในตอนท้าย

เรารู้มาก่อนว่าผู้กำกับของเรื่อง เป็นผู้หญิงที่มาจากภาคอีสาน แต่เราไม่เคยรู้ประวัติของเธอมาก่อน จนดูหนังจบลง เราลองกูเกิลดู พบว่าเธอเป็นคนกาฬสินธุ์ จังหวัดเดียวกับเราเลย แต่บ้านเธออยู่อำเภอสามชัย หลังจากรู้ถิ่นฐานที่มาของเธออย่างนั้น บทสัมภาษณ์ใดๆ เกี่ยวกับอีสานของเธอที่เราเคยได้อ่านมาก่อน (เธอเคยพูดถึงแม่ชาวนาของเธอมาก่อน) มันทำให้เราเชื่อมโยงกับเธอทันที และทำให้เราคิดภาพออกอันที (อย่างน้อยๆ เราก็เชื่อเช่นนั้น) ว่าอะไรใดๆ แบบไหน ที่มันทำให้เธอเลือกสร้างหนังเรื่องนี้ขึ้นมา และเล่าด้วยท่าทีและน้ำเสียงแบบนี้

เราคิดว่า เธอและเราก็เติบโตมาในสภาพสังคมที่ไม่แตกต่างกัน และน่าจะอยู่ในชนชั้นเดียวกัน ผ่านการศึกษามาแบบเดียวกัน มีเพื่อนๆ ในอีสานที่แวดล้อมคล้ายๆ กัน

ซึ่งมันไม่ได้หมายความว่า เธอหรือเราเป็น ยุพิน นะ

สิ่งที่เราอินมากๆ คือการเล่าถึงชีวิตของคนอีสาน (ในนี้คือโฟกัสไปที่วัยรุ่น) รุ่นใหม่ ที่ดูเหมือนไม่ได้พุ่งเป้าหมายชีวิตให้เติบโตตามระบบแบบที่ศูนย์กลาง (รัฐไทย) กำหนดมา

ซึ่งนี่แหละคือสิ่งที่ทำให้มันสัมผัสเรามากๆ เพราะสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เราเลย … เพราะเราเป็นคน (เด็กวัยรุ่น) ที่ไขว่ขว้าความฝันในระบบแบบที่รัฐไทยกำหนดมาเลย

ถ้าจะมีตัวละครที่คล้ายคลึงกับเราที่สุดในเรื่อง ตัวละครนั้นคงเป็น สวรรค์ เด็กเรียนดี กีฬาเด่น เก่งดนตรี (แคน) เป็นตัวท็อปที่น่าจะไปตามระบบได้อย่างสบาย

ถ้าเราแตกต่างจากตัวละครในเรื่องขนาดนั้น ทำไมหนังมันถึงทำปฏิกิริยากับเราได้มากขนาดนี้?

นั่นเพราะช่วงหนึ่งที่เราเคยกลับไปอยู่บ้านนอก (ที่เขาวง กาฬสินธุ์) ประมาณ 1 ปีครึ่ง เราได้กลับไปเจอคนในชุมชนซึ่งเป็นเพื่อนๆ ในวัยเด็ก ที่เขาเลือกจะอยู่บ้าน (นั่นหมายความว่า บางคนไม่เคยเลือกจะเรียนต่อหรือทำงานที่ กทม.) ทำงานที่บ้าน มีอาชีพที่บ้าน และหลายๆ อาชีพที่เขาเลือก ก็ดูเป็นสิ่งที่ไม่มั่นคงตามแนวทางของ “ชีวิตตามระบบ” ที่คนในเมืองคุ้นชินเลย

เราเจอเพื่อนวัยเด็กหลายคน (ที่เราก็ไม่ได้สนิทแล้ว) ที่เขาขายครีมออนไลน์ หรือขายสินค้าออนไลน์ชิ้นอื่นๆ เราเจอเพื่อนที่ยังขับรถขายไอศกรีมตามหมู่บ้านอยู่ (เขาชื่อ บุญมา และน่าทึ่งที่เขาไม่เคยคิดจากเขาวงไป) เราเจออีกหลายๆ “อดีตวัยรุ่น” ที่เราเคยรู้จัก ที่ทำให้เราประหลาดใจ ว่ามันมีคนที่ไม่เคยคิดฝันอยากจากหมู่บ้าน อำเภอ จังหวัด หรือภูมิภาคนี้ไป เพื่อเติบโต สยายปีกกว้าง ณ ที่อื่นๆ อยู่จริงๆ บนโลกด้วยแฮะ

สิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวละครยุพินและผองเพื่อนในเรื่อง ทางเลือกที่พวกเธอเลือกเดิน สิ่งที่พวกเธอเลือกภายใต้ข้อจำกัดของชีวิต มันจึงสร้างปฏิกิริยากับเรามาก เพราะเราก็เคยรู้จักและสัมผัสกับคนเหล่านี้จริงๆ

ซีนที่เราชอบที่สุดในเรื่อง ถ้าไม่นับซีนที่ยุพิน (เด็กเรียนไม่เก่งและไม่เคยคิดจะขยัน) เต้น “หน่าฮ่าน” ต่อหน้าคณะกรรมการที่สัมภาษณ์เธอเข้าเรียนต่อมหาวิทยาลัย ก็คงเป็นซีนที่ “แข่ว” เพื่อนสาวของยุพินที่เลือกทำอาชีพเป็นพนักงานต้อนรับบนรถทัวร์นครชัยแอร์หลังเรียนจบชั้น ม.6

นอกจากนี้ เราคิดว่าทุกสิ่งที่ปรากฏตัวในหนังถูกคิดมาดีแล้ว (แม้จะมีข้อจำกัดด้านการเงินบ้าง) เราชอบการปรากฏตัวของ UD Town (มันคือย่านช้อปปิ้ง คล้ายๆ สยามสแควร์ ของอุดรธานี แต่แน่นอนว่ามัน “ไทบ้าน” กว่า) ชอบการมีอยู่ของ “มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี” ในเรื่อง ชอบการกินพิซซ่าแบบไม่รู้ธรรมเนียมของสวรรค์ จนตะโกนเรียกพนักงานมาเก็บเงินที่โต๊ะ (ก่อนที่สวรรค์จะโดนอ้ายสิงโตหักหน้าว่า ต้องไปคิดเงินที่เคาน์เตอร์สิ) ชอบซีนเติ้ลไม้นั่งกินเหล้าข้างทางกับอ้ายหม่ำ

นี่น่าจะเป็นหนังวัยรุ่นที่ดีที่สุดในใจเรา พอๆ กับเรื่อง “เกรียนฟิคชั่น” ของมะเดี่ยว ชูเกียรติ เลยทีเดียว

ปล.เราเคยอยู่หนองบัวลำภู (ห่างจากอุดรธานีไป 40 กม.) และเคยคลุกคลีกับอุดรฯ อยู่ช่วงหนึ่ง (ก็คือไป UD Town อยู่บ่อยๆ) การมีหนังที่เล่าพื้นที่หลักเป็นอุดรฯ ทำให้เราอินไม่น้อย

Categories
2019 Everyday Blog experience Seen Thought Uncategorized

บาห์เรน – When life gives you lemon, then makes lemonade

 

 

bahrain

 

 

ฉันเคยเขียนไว้ในอีกเพจหนึ่งชื่อ ทองหล่อเดินได้ – walkable Thonglor ว่า “ขณะที่โลกบอกให้เราออกเดินทาง แต่สารภาพว่าฉันเป็นคนที่หลงรักคอมฟอร์ตโซนอย่างสุดใจ”

ฉันหมายความอย่างนี้จริงๆ
และยิ่งโต ฉันก็ยิ่งตระหนักว่า ฉันไม่ได้รักการเดินทาง และฉันรักความสบายมากกว่าความลำบาก

ฉันไม่เคยอยากออกไปจากคอมฟอร์ตโซน … และการนั่งไถมือถืออ่านจอยลดา และรอเอ็มวีใหม่ WayV ก็ไม่เห็นจะแย่อะไรนี่นา

แต่โลกก็มีทั้งสิ่งที่เราเลือกได้ และเลือกไม่ได้

หลังอายุเต็ม 38 ปีได้ไม่กี่วัน ฉันได้ไปที่บาห์เรน-โดยไม่คาดคิด

นี่คือสิ่งที่ฉันในวัย 38 เจอ เมื่อเดินออกจากคอมฟอร์ตโซน
.
.

1. การตกเครื่องบินตอนเที่ยงคืน
ในชีวิตนี้ฉันเคยตกเครื่องบินมา 1 ครั้งถ้วน – ช่วงปีใหม่ที่จะไปพม่า – ในยุคที่อองซานซูจียังถูกคุมขัง และคนไทยยังต้องขอวีซ่าเข้าประเทศฝั่งตะวันตกของเรา คราวนั้นฉันตกเครื่องที่สุวรรณภูมิ ทางแก้คือควักเงินซื้อตั๋วเครื่องบิน (ช่วงปีใหม่) ใบใหม่สิ … เงินอาจไม่ใช่สิ่งสวยงามที่สุดในโลก แต่หลายๆ ครั้ง เงินแก้ปัญหาให้เราได้

แต่คราวนี้ ฉันตกเครื่องและติดแหงกที่บาห์เรนอยู่เกือบ 24 ชั่วโมง

ถ้าเราอยู่ในโลกที่เวลาเป็นเงินเป็นทอง และการเป็นคนเก่งคนเก๋ของโลกยุคใหม่คือการบริหารเวลาและพลังชีวิตได้ “efficient สูงสุด” … การตกเครื่องและนั่งแหงกอยู่เกือบ 24 ชั่วโมง คงหมายถึง “แกมันเป็นคนแย่ แกมันจัดการชีวิตไม่ดี” แน่ๆ

ฉันเอามือปิดหน้า ตอนที่เจ้าหน้าที่บอกว่า ฉันตกเครื่องแน่ๆ แล้ว … เครื่องบินลำที่จะต่อไปปารีสอยู่ตรงหน้าแล้วแท้ๆ แต่ฉันทำอะไรไม่ได้มากกว่ามองมันค่อยๆ เคลื่อนที่จากไป

“เครื่องดีเลย์ตั้งแต่ต้นทาง ไม่ใช่ความผิดฉันซะหน่อย”
“ใช่ ไม่ใช่ความผิดคุณ”

อย่างน้อยที่สุด คนไทยอย่างฉันก็ไม่ต้องขอวีซ่าเพื่อเข้าบาห์เรน – พวกเขาจัดหาโรงแรมและอาหาร 3 มื้อให้ – ฟรี – แลกกับการตกเครื่องและต้องใช้ชีวิตล่าช้าไปอีกหนึ่งวัน

เป็นหนึ่งวัน ที่โลกจะเปลี่ยนจากยุคเฮย์เซย์ เป็นยุคสมัยเรวะ

ฉันอยู่ที่นั่น ที่เมืองหลวงของบาห์เรนที่ชื่อ มานามา
.
.
.
.

2.ในตอนเที่ยงคืนที่ฉันรู้สึกเหมือนอยากร้องไห้ ฉันหันไปเห็นรอยยิ้มและเสียงหัวเราะของคนไทยกลุ่มหนึ่งที่เป็นเพื่อนร่วมไฟล์ท พวกเขาตั้งใจมาต่อเครื่องไปซาอุดิอาระเบีย เครื่องเต็ม และพวกเขาก็ต้องติดแหงกอยู่ที่บาห์เรนกับฉันเช่นเดียวกัน

ดูไม่ทุกข์ไม่ร้อน ไม่มีเสียงร้องฟูมฟาย ไม่มีเสียงด่าทอ ไม่มีอาการหงุดหงิดอะไรทั้งนั้น

ฉันค้นพบ ณ ตอนนั้น ว่าไม่ว่าฉันจะหงุดหงิดไปอีกกี่มากน้อย มันก็เปลี่ยนความจริงที่ว่า ฉันตกเครื่องไม่ได้ – ฉันต้องอยู่ที่นี่ ต้องนอนที่บาห์เรนคืนนี้ – ในวันสุดท้ายของยุคสมัยเฮย์เซย์

“When life gives you lemon, make lemonade.”
คือสุภาษิตฝรั่งที่บอกเราว่า เมื่อเวลาที่ชีวิตยื่นอะไรที่เราไม่ได้เลือกมาให้ เราก็แค่ต้องหาแง่งามของมันให้เจอ

ถ้าชีวิตเขวี้ยงมะนาวใส่ เราก็แค่ต้องเอามะนาวมาคั้นทำชามะนาวสิโว้ย!

ยิ้ม-นอน-กินข้าว-ฟังเรื่องเล่าแสวงบุญของเหล่าน้าๆ ที่ยอมจ่ายเงินคนละ 6หมืนมาแสวงบุญถึงซาอุดิอาระเบีย

“น้าเป็นผู้ใหญ่บ้านที่ยะลา ถ้าไปยะลาก็ไปถามหาน้านะ นี่เบอร์โทร และทุเรียนยะลาอร่อยมาก อย่าลืมไปหาทาน”

น้าผู้ใหญ่ชื่อ ยูซุก และแฟนน้าชื่อ สะเมาะ

“รู้จักร้านสินธรสเต๊กเฮ้าส์ไหม น้าเป็นเจ้าของ ถ้ามากินก็ขอส่วนลดได้” น้าอีกคนบอก

“นี่บ้านอยู่เอกมัย มาเยี่ยมได้” – อ้อ บ้านใกล้เรือนเคียงกับทองหล่อเลย

ทุกคนดูไม่ทุกข์ไม่ร้อน
ทุกคนดูรับได้กับการต้องตกเครื่อง
ทุกคนดูจะเข้าใจว่ามันเกิดขึ้นได้
ทุกคนดูจะเข้าใจว่าการจากบ้านมาแสวงบุญมันต้องเจอกับความลำบากและสิ่งที่ควบคุมไม่ได้อยู่แล้ว

นั่นน่าจะเป็นครั้งแรกสุด ที่ฉันเลิกตั้งคำถาม ว่าทำไมหลายคนต้องยอมลำบากเพื่อความศรัทธาบางอย่างด้วย

ทำไมเราต้องออกจากคอมฟอร์ตโซนเพื่อมาลำบากด้วย
.
.
.

3.คนปากีสถานคนนั้นอยู่ฝรั่งเศส

น้าคนไทยกลุ่มนั้นจากไปซาอุฯ ตั้งแต่ตอนเที่ยง คนที่ยังอยู่กับฉันที่โรงแรมคือคนปากีสถานคนหนึ่ง ฉันถามเขาว่าเขาตกไฟล์ทบินไหน เขาบอกว่า “แฟรงเฟิร์ต”
“อ้อ เยอรมนี” ฉันพยักหน้า
“แต่ผมอยู่ฝรั่งเศส” เขาบอก
ฉันคงเผลอทำหน้างงใส่
“เมืองที่ผมอยู่ อยู่ติดเยอรมัน ผมเลยบินลงแฟรงเฟิร์ตและนั่งรถไฟเข้าไป”
“อ้อ” ฉันพยักหน้าอีกรอบ

ก่อนหน้านี้ ฉันคงเก็บไปสงสัยบนเครื่องว่า
…ทำไมคนปากีฯ ไม่อยู่ปากีฯ
…ทำไมคนเราต้องออกจากบ้านไปอยู่ที่อื่น
…ทำไมคนเราต้องเดินออกจากคอมฟอร์ตโซน

ฉันโบกมือลาหนุ่มปากีฯ
ไม่มีคำถาม
ไม่มีข้อสงสัย
บางทีฉันอาจเหนื่อยเกินไป
เพราะทันทีที่ขึ้นเครื่องก็นอนหลับยาวเลย

การออกจากคอมฟอร์ตโซนมันเหนื่อย
แต่ถ้าเจอมะนาวหล่นข้างทาง
อย่าลืมหยิบมาคั้น
ชงชามะนาวสักแก้ว…ก็ดีอยู่นะ
.
.

ฉันคิดในใจก่อนเปลือกตาจะปิดลง

 


ไม่ค่อยได้อัพบ่อย แต่ถ้าอ่านแล้วชอบ ฝากแชร์ด้วยนะคะ
หรือติดตามได้ช่องทางอื่น

blog: deartiktok.wordpress.com
fb.me/deartiktok
twitter.com/tiktokthailand
instagram.com/tiktokthailand

Categories
daily discover experience Thought

[blog] 3 ปี 3 เดือนหลังเรียนจบ – จับจองที่นั่งของคุณให้ดี เพราะพลุไฟใกล้จะเริ่มต้นแล้ว

IMG_2180

“จับจองที่นั่งของคุณให้ดี เพราะพลุไฟใกล้จะเริ่มต้นแล้ว”

(1)

“การเลือกเส้นทางชีวิตก็เหมือนการเลือกจับจองที่นั่งเพื่อดูพลุไฟในช่วงเทศกาลฮานาบิแหละมั้ง”
อยู่ๆ ฉันก็คิดในใจขึ้นมา แต่พอคิดออกมาแล้วก็ดันเขิน เพราะมันดูเหมือนคำคมห้าบาทสิบบาท ที่ไม่มีอะไรโยงใยกับชีวิตจริงได้เลย

เราต่างหวังให้ชีวิตเรียบง่าย, แต่มันก็มักจะลงท้ายด้วยความซับซ้อนเสมอ…ไม่รู้ทำไมเหมือนกัน

5 ปีก่อน ฉันเลือกไปเรียนต่อปริญญาโทที่ญี่ปุ่น ด้วยความมุ่งมั่นว่าจะกลับมาเป็นอาจารย์ใกล้บ้าน, บ้านที่อยู่ห่างไกลจากกรุงเทพฯ ราวๆ 700 กิโลเมตร,
แต่เรื่องจริงคือ ตลอด 3 ปี 3 เดือนหลังเรียนจบและรับใบปริญญามา – ฉันไม่เคยได้เป็นอาจารย์ใกล้บ้านเลย

1 ตุลาคม 2015 ฉันเริ่มอาชีพแรกหลังเรียนจบปริญญาโท (แต่ตอนนั้นอายุก็เลยเลข 3 มาแล้ว) ในองค์กรของรัฐแห่งหนึ่ง ฉันไม่ได้รับราชการ แต่มันเป็นองค์กรที่ฉันหวังว่าจะได้เรียนรู้ และได้พาตัวเองเข้าใกล้งาน Public Policy หรือนโยบายสาธารณะ อย่างที่เรียนมาในชั้นเรียนปริญญาโทให้ได้มากที่สุด

ถ้าฉันยังกลับไปทำงานใกล้บ้าน (นอก) ไม่ได้ ฉันก็หวังแค่ว่า อยากใช้ความรู้ความสามารถทำงานในองค์กรที่สร้างผลกระทบต่อชีวิตของผู้คนให้ได้ แม้จะเป็นเสี้ยวเล็กๆ ก็ตามที

ฉันอยู่ที่นี่แค่ 6 เดือน ก็มีโอกาสอื่นหยิบยื่นมาให้, แม้ตัวเลข 6 เดือนจะแสนสั้น แต่เมื่อมองย้อนกลับไป ฉันมักบอกคนอื่นๆ เสมอว่า ไม่ว่าแนวคิดขององค์กรนี้จะเป็นอย่างไร ไม่ว่าตัวองค์กรจะถูกตั้งคำถามจากสังคมแค่ไหน แต่ฉันได้เรียนรู้อะไรเยอะมากตลอด 6 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการเรียนรู้สิ่งใหม่เกือบหมดเลย

10 ปีก่อนหน้านี้ ฉันอยู่ในธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์ และเอาเข้าจริง ฉันเป็นคนที่กระโจนเข้าสู่ธุรกิจสิ่งพิมพ์โดยไม่คิดหวังความก้าวหน้าเลย ตลอดชีวิตการทำงานของฉัน หวังสิ่งเดียวเท่านั้น คืออยากออกหนังสือให้ได้สักเล่ม (ตลอดวัย 20s ฉันไม่เคยเรียกร้องเงินเดือนขึ้น ไม่เคยร้องหาโบนัส และไม่เคยขอปรับตำแหน่งให้สูงขึ้นเลย ฉันมีแค่ความฝันเดียว คืออยากออกหนังสือเท่านั้น)

ตัดกลับมาที่ปี 2015 ณ องค์กรแห่งนั้น, ฉันได้เรียนรู้การจับใจความตอนเราเข้าประชุม (มีประชุมเยอะมาก), ฉันได้เรียนรู้การย่อยข้อมูลยากๆ และถ่ายทอดออกมาให้ง่ายๆ และโดนใจ, ฉันได้เรียนรู้ว่า “สาร” บางสาร ถ้าสื่อออกมาอย่างถูกต้องและถูกเวลา มันก็เปลี่ยนแปลงอะไรได้

ฉันได้เรียนรู้การใช้ Google Calendar เพื่อการทำงานครั้งแรกก็ในตอนนั้น (ตลอดทั้งชีวิตไม่เคยคิดใช้มันเลย)

แต่เพราะลึกๆ แล้วฉันอยากออกไปทำงานต่างจังหวัด “กรุงเทพฯ ไม่ใช่ประเทศไทย” คือประโยคที่ฉันมักจะพูดกับเพื่อนสนิทเสมอ ฉันคิดว่าถึงแม้เราจะเป็นคนทำงานที่ตั้งใจดีขนาดไหน แต่ถ้าเราไม่เคยได้ออกไป…เห็นอย่างที่มัน (น่าจะ) เป็น เราอาจเป็นแค่คนพยายามขีดเส้นนั่นนี่แล้วเรียกมันว่า “เทรนด์” โดยที่จริงๆ แล้วมันอาจไม่ได้สะท้อนชีวิตจริงของคนอีกครึ่งประเทศก็ได้

(2)

29 มีนาคม 2016 ฉันย้ายไปอยู่อีกองค์กรที่ให้โอกาสทำงานในพื้นที่อีสาน, เงินน้อยลง (มาก) และเนื้องานก็เปลี่ยนไปเรื่อยๆ ตามแต่สถานการณ์ อธิบายอย่างเรียบง่ายคงต้องบอกว่าทำงานเป็น “เจ้าหน้าที่ชุมชน” แต่นั่นแหละ พอจะลงรายละเอียดในเนื้องาน ก็พบว่าคงไม่อาจระบุ Job Description ได้ชัดเจน

หลายคนที่ได้ข่าวจากฉันในตอนนั้น คงพอจำได้ว่าฉันไปอยู่วัด วัดที่ช่วงกลางวันของวันจันทร์ถึงศุกร์ จะมีผู้ต้องขังจากเรือนจำมาทำงานอาสาในวัด ชีวิตช่วงนั้นของฉันเป็นช่วงที่ได้ผูกมิตรกับ ผู้คุมเรือนจำ, ผู้ต้องขัง, นายก อบต., ผู้ว่าราชการจังหวัด, ปลัดอำเภอ, กำนันผู้ใหญ่บ้าน, เกษตรกรไร่มัน, เกษตรกรสวนอ้อย, เกษตรกรนาอินทรีย์, แม่ออก (หมายถึงคนที่มาทำบุญกับวัด), เศรษฐีต่างจังหวัด, ทหารเกณฑ์ที่สุดท้ายก็ปฏิเสธสิ่งดีๆ ในชีวิต แล้วเลือกเดินบนเส้นทางอื่น, เด็กมัธยมปลายที่มุ่งหวังอยากเข้าทำงานที่ Google, รวมถึงกลุ่มเด็ก “บอร์ด” หรือแก๊งสเก็ตบอร์ด ในตำนานของฉัน (ฉันเริ่มเล่นสเก็ตบอร์ดครั้งแรกในชีวิตตอนเข้าแก๊งค์นี้)

ชีวิตในจังหวัดที่ว่ากันว่า “ยากจนที่สุด” จังหวัดหนึ่งของเมืองไทย เป็นชีวิตที่สอนอะไรฉันมากมายเช่นกัน ฉันได้เข้าใกล้ความเป็นไทย (อีสาน) มากอีกนิด ฉันได้เข้าใจอย่างลึกซึ้งว่าคำว่า “ระบบอุปถัมภ์” ที่อยู่ใน text book ของเด็กรัฐศาสตร์หน้าตาเป็นอย่างนี้เอง ฉันได้เข้าใจว่า “วัด” สำคัญกับชุมชนอย่างไร และมากเพียงไหน, ฉันเข้าใจคำว่า “บารมี” ที่แฝงฝังอยู่ในสังคมไทย – ฉันเห็นงบประมาณประเทศที่หล่นโปรยลงมาในพื้นที่ และพบคนรุ่นใหม่ที่ตั้งใจดีอีกมาก แต่ก็ค้นพบเช่นเดียวกันว่า – ระบบราชการในประเทศนี้ “เฮงซวย” ขนาดไหน (ขอเน้นคำว่า “ระบบ” ไม่ได้เน้นที่คำว่า “คน” )

1 ปี กับอีก 2 เดือน ฉันก็จากลาที่นั่น, ลาจากพื้นที่ซึ่งสอนฉันมากมายเหลือเกิน เกี่ยวกับความเหลื่อมล้ำที่ฝังรากอย่างยาวนานในประเทศนี้

(3)
1 มิถุนายน 2017 – เรียกได้ว่าเป็นวันแรกที่ฉันได้เริ่มต้นใหม่กับกรุงเทพฯ อีกครั้งอย่างแท้จริง

ไม่ว่าจะรักหรือชัง แต่ต้องยอมรับว่า กรุงเทพฯ คือ Comfort Zone ด้านอาชีพการงานของฉัน

ฉันกลับมาสู่อาชีพเดิม – อาชีพที่ฉันเคยวิ่งหนีจากเมื่อปี 2012
การหวนกลับมาครั้งนี้ ฉันมาพร้อมความตั้งใจว่าจะอยู่กับมันอย่างยาวนาน

ในยุคสมัยที่ธุรกิจสื่อถูกท้าทายและต้องปรับตัว ฉันค่อยๆ ค้นพบที่ทางของตัวเอง ว่าตัวเองเหมาะกับอะไร (หรืออย่างน้อยที่สุด ฉันสบายใจกับจุดไหน)

ฉันรับงานเป็นมือปืนรับจ้าง – ผลิตสื่อให้องค์กรต่างๆ หรือที่เรามักเรียกว่า “ลูกค้า” ฉันค้นพบว่าลูกค้าแต่ละคนมีวิธีการทำงานที่แตกต่างกันไป และหลายครั้ง “การปรับตัว” และ “เปิดใจ” ต่อกัน นั้นสำคัญมาก

และการเคารพกัน – อาจสำคัญที่สุด

นอกจากการหันมาทำสื่อให้องค์กร ฉันค้นพบความสนใจใหม่ในเรื่องเล่า ฉันอยากเขียนเรื่องเล่าในรูปแบบบทละคร บทหนัง หรือแม้กระทั่งแฟนฟิคชั่น ขณะเดียวกันความสนใจก็ขยายขอบเขตไปที่สื่ออย่างวิดีโอสารคดี และคลิปยูทูป

ฉันไม่ใช่คนเก่ง, หัวช้าและเดินช้า, แต่เมื่อค้นพบว่าอะไรคือสิ่งที่อยากทำ ฉันก็อยากมุ่งหน้าไปให้เต็มที่

แต่ไปเต็มที่ของฉัน อาจหมายถึงการเดินต้วมเตี้ยมในสายตาของคนอื่น

แต่นั่นก็ไม่เป็นไรเลย

หลังจากกลับมาทำงานที่กรุงเทพฯ ได้ 1 ปีกับอีก 7 เดือน ฉันค้นพบว่า มีอะไรที่ฉันอยากทำอีกมากมาย แต่ฉันก็คงทำไม่ได้ทุกอย่าง ฉันควรโฟกัสแรงและพลังกับสิ่งสำคัญที่สุด ส่วนหนึ่งนั่นคืออาชีพประจำ ส่วนสองนั่นคือเรื่องเล่าส่วนตัวที่อยากเล่า (ในทุกรูปแบบที่เอื้อให้เล่า)

นับจากวันที่เรียนจบจากมหาวิทยาลัยโตเกียว ฉันไม่ได้ทำงานด้านนโยบายอย่างที่เรียนจบมา ไม่ได้สอนหนังสืออย่างที่เคยตั้งใจไว้ เส้นทางที่ฉันเลือก ไม่ได้มอบเงินทองมากมาย แต่นี่อาจเป็น เส้นทางที่ฉันเลือกแล้ว

คงเหมือนกับ เสื่อบนลานหญ้า ที่เราเลือกจับจอง ก่อนที่พลุไฟฮานาบิจะเริ่มต้นขึ้น

ฉันเลือกปูเสื่อตรงนี้ จุดที่สบายใจที่จะอยู่ และสบายใจที่จะนั่ง

ปี 2018 หรือที่คนญี่ปุ่นเรียกว่า ปีเฮย์เซย์ 30 กำลังจะผ่านไป

พลุไฟส่งท้ายปีเก่าและต้อนรับปีใหม่จะถูกจุดขึ้น

จุดที่เราแต่ละคนเลือกให้ชีวิต อาจไม่เหมือนกัน (และไม่จำเป็นต้องเหมือน)

แต่หวังว่าเราจะพอใจกับมัน

และ Enjoy กับความงามของดอกไม้ไฟ

ไม่ว่าเราจะอยู่ในฐานะผู้เฝ้ามองหรือผู้จุดมันขึ้นก็ตาม

Categories
experience Seen Thought

[documentary film] Boundary – ฟ้าต่ำ แผ่นดินสูง

 

Screen Shot 2018-09-22 at 3.33.07 PM

Boundary – ฟ้าต่ำ แผ่นดินสูง (นนทวัฒน์ นำเบญจพล/2013/ไทย)

ได้ดูสักที
ทั้งที่อยากดูตั้งแต่ตอนออกฉาย แต่จำไม่ได้ว่าทำไมถึงไม่ได้ดู … เหมือนจะอยู่บ้านนอก หรือไปญี่ปุ่นแล้วนี่แหละ (แต่หนังเข้าฉาย เมษายน 2013 รึเปล่า…นั่นยังไม่ได้ไปญี่ปุ่นเลยนะ)

แต่นั่นแหละ ได้ดูแล้ว

หลังจากสารคดีเรื่องนี้ฉายมา 5 ปี พอย้อนกลับมาดูในช่วงที่กระแสความขัดแย้งจากกรณีเขาพระวิหาร -ที่ถูกขับด้วยลัทธิชาติยมเป็นหลัก- ซาลงไป (หมายถึงความร้อนแรงของความขัดแย้งซาลงไป ไม่ใช่ลัทธิชาตินิยมซาไป) ก็พบว่า ตัวเองไม่ได้อินกับสารคดีมาก (ทั้งๆ ที่ตัวเองก็เป็นคนอีสาน) และเอาเข้าจริง ตัวสารคดี ก็ไม่ได้ถูกสร้างมาเพื่อให้ใครอินอยู่แล้วมั้ง (เหมือนจะเป็นเช่นนั้นนะ)

ถ้าให้เล่าถึงเมนไอเดียของสารคดี คงต้องบอกว่า มันคือหนังสือ Imagined Community ของ อ.เบน แอนเดอร์สัน นั่นแหละ (และแน่นอน มีเครดิต อ.เบน อยู่ท้ายเรื่อง) มันคือการพยายามทำความเข้าใจเรื่องพรมแดนของความขัดแย้ง – ทั้งความขัดแย้งตรงพรมแดนเขาพระวิหาร และความขัดแย้งในวิกฤตการเมืองไทย (เสื้อเหลืองเสื้อแดง) นั่นแหละ – ซึ่งผู้กำกับเลือกเล่าผ่านตัวละครเล็กๆ โดยเฉพาะชาวบ้านและทหารในพื้นที่ทั้งสองฝั่ง

แต่สารคดีก็ไม่ได้สืบค้นถึงรากลึกของปัญหาอะไร เพราะนั่นไม่ใช่สารหลักที่จะสื่ออยู่แล้ว มันคือการพยายามมองมาจากคนนอก (เพราะผู้กำกับเป็นคนกรุงเทพฯ = คนนอกอยู่แล้ว) ซึ่งไม่ได้อยู่ใกล้พื้นที่ซึ่งมีเสียงปืนเสียงระเบิด ที่น่าสนใจคือ ปัญหาที่ชายแดนเขาพระวิหาร ก็เป็นปัญหาที่ไม่ได้ก่อขึ้นโดยคนในพื้นที่ด้วยซ้ำ ปัญหาที่ถูกจุดให้ร้อนแรงอีกครั้งในช่วง 2011 ที่มีการปะทะกัน เกิดขึ้นจากคนนอกพื้นที่…คนที่รู้สึกว่า “จะเสียเอกราชไทยให้เขมรไม่ได้”

สารคดีแนะนำเราให้รู้จักกับอ๊อด ทหารเกณฑ์ที่กำลังจะปลดประจำการ เขาได้รับสิทธิ์พักร้อนกลับบ้านช่วงสงกรานต์ บ้านของอ๊อดอยู่ตรงจุดที่มีปัญหาพิพาทนั่นแหละ ศรีษะเกษ (สะกดอย่างนี้ใช่ไหม) จริงๆ อ๊อดมีความน่าสนใจ แต่เนื่องจากตอนนี้หิว ขี้เกียจเขียนยาว ทิ้งมันไว้ตรงนี้แหละ อ้าว

นอกจากอ๊อด เราได้รู้จักพ่ออ๊อด รู้จักชาวบ้านที่ต้องอพยพเมื่อเกิดการปะทะ รู้จักคนที่สูญเสียบ้านเพราะระเบิดลง (บ้านทั้งหลังที่เก็บเงินมาสร้าง) รู้จักคนที่เสียสามีเพราะระเบิดลง (ฝ่ายภรรยาเล่าถึงด้วยท่าทีไม่ดราม่าเลยแม้แต่น้อย แต่นั่นยิ่งทำให้คนดูรู้สึกถึงความดราม่ามากขึ้น) ทหารแถวๆ นั้น ทั้งไทยและเขมร …​ในพาร์ทเขมร (กัมพูชา) ผู้กำกับเล่าถึงนอกรอบ (เหมือนจะเล่าในเฟซบุ๊ก-เคยอ่านผ่านตาตอนนั้น) ว่าต้องปลอมตัวเป็นชาวต่างชาติ (แนวๆ จีน เกาหลี ญี่ปุ่น นี่แหละ) เข้าไปขอสัมภาษณ์ เพราะตอนนั้นถ้าบอกว่าเป็นคนไทย … เละแน่ๆ

สิ่งที่น่าสนใจจริงๆ สำหรับเราก็คือ … หลายครั้งที่งานซึ่งสำรวจประเด็นในเชิงนี้ (เชิงไหนหว่า…เออ นั่นแหละ) มักเป็นผลงานของคนที่ไม่ได้เรียนรัฐศาสตร์มาโดยตรง (ผู้กำกับเรียนออกแบบนะถ้าจำไม่ผิด) แต่เป็นการต่อยอดจากความสนใจ ก้าวข้ามพรมแดน (แน่ะ…​ boundary) ของความรู้เฉพาะสาขาหนึ่งๆ ไปสู่สาขาหนึ่งๆ ปะทะสังสรรค์และเล่ามันออกมา ด้วยความสนใจใคร่รู้

สิ่งที่เรา-ในฐานะเด็กรัฐศาสตร์-สนใจหลังจากดูสารคดีเรื่องนี้จบลง คงเป็นประเด็นที่ว่า … เราอยากรู้ว่า มีคนสาขารัฐศาสตร์หรือสาขาแนวๆ นี้ ได้ถ่ายทอดหรือเล่าถึงเรื่องนี้ในเชิงสารคดี หรือเรื่องเล่า (อาทิ หนังสั้น / อนิเมชั่น) ไว้บ้างไหม ในการมองเรื่องพิพาทเขาพระวิหาร ถ้าเราไม่มองจากมุมของ Imagined Community ของ อ.เบน แอนเดอร์สัน รวมถึงไม่มองจากสายตาของลัทธิชาตินิยม มันจะเลือกเล่า หรือมองได้จากอะไรอีกบ้าง

อ๊ะ ลืมให้คะแนน

8.5/10

สามารถเช่าดูออนไลน์ (48 ชม.) ได้ที่ Vimeo ในราคา 6$ (ประมาณ 180 บ.)

ลิงก์เช่าหนัง – https://vimeo.com/ondemand/boundary/135178142

Categories
Thought

[blog] ว่าด้วยการเขียน

 

จริงๆ แล้ว เป็นคนที่มีประสบการณ์เขียนน้อยมาก เขียนช้า ใช้เวลาเยอะ เขียนไม่จบก็เยอะมาก ทิ้งไปอีกไม่น้อย มีหนังสือที่เขียนเสร็จอยู่เล่มเดียว ชื่อ “ซากุระ, ซาโยนาระ” แถมพิมพ์เองอีกต่างหาก

แต่ช่วงปีที่ผ่านมา มีคนส่งข้อความมาถามเรื่องการเขียนหนังสืออยู่หลายคน ท่ามกลางทักษะการเขียนที่ไม่ได้ดีเด่อะไรของตัวเอง อย่างน้อยก็พบว่า เวลาให้คำปรึกษาใครเรื่องนี้ เราจะพยายามส่งสารอะไรก็ได้ ให้คนคนนั้น เขียนงานออกมาให้ได้โดยไม่ต้องแคร์ความสมบูรณ์แบบหรือแคร์ก็ให้น้อยที่สุด

ท่ามกลางทักษะอันน้อยนิดของเรา นี่คือสิ่งที่ตัวเองค้นพบว่าเมื่อเวลาเขียน ก็จะพยายามบอกตัวเองอย่างนี้ตลอด (ซึ่งบางข้อก็ทำได้ยากเหลือเกิน)

ถ้าอยากเขียน…

1/เขียนสิ่งที่อยากเล่า เล่าในเรื่องที่เราอยากเล่าจริงๆ เหมือนว่ามีเราคนเดียวในโลกที่เล่าเรื่องนี้ได้
2/เล่าโดยคิดว่านี่คือประสบการณ์ส่วนตัวที่ไม่มีใครทำซ้ำได้อีกแล้ว (คล้ายกับข้อ 1 แต่ก็แตกต่างกันอยู่)
3/ทุกคนมีมุมมองของตัวเอง
4/ในทุกงานเขียน มีทั้งคนรักและเกลียดแน่นอน แต่เราต้องรักมัน
5/งานเขียนทุกอย่างมีคุณค่าและที่ทางของมันเสมอ
6/ตอนเล่า พยายามอย่าเซ็นเซอร์ตัวเอง เล่าไปก่อน เขียนจบค่อยมาดูอีกที ว่ามีจุดไหนควรเซ็นเซอร์ไหม
7/ตอบตัวเองให้ได้ก่อน ว่าชอบสไตล์เขียนแบบไหน
8/ยังไม่ต้องกังวลเรื่องพิมพ์ เขียนก่อน อย่างน้อยที่สุด โลกนี้ยังมีเว็บ dek-d และ ebook
9/เชื่อว่าถ้าเราตั้งใจเขียน จะมีคนรออ่าน

เครดิตภาพ : หนังสือ OMG ของ mylandmark
https://twitter.com/mylandmarkk )

 

38026280_10155901652433235_6420751923112050688_o

Categories
Thought

[blog] murakami syndrome

“I once had a girl,

or should I say,

She once had me”

— Norwegian Wood —

Note to self on 2011.02.19

 

179812_501473913234_5014748_n

 

Murakami Syndrome

เคยมีน้องถามว่า ทำไมหลายๆ คนถึงได้ชอบอ่านหนังสือของมูราคามิ เราตอบว่า สำหรับคนอื่นเราไม่รู้ แต่สำหรับเรา ตอนแรกเราก็เคยสงสัยมาก่อนว่า ทำไมทุกคนถึงได้พูดถึงแต่นักเขียนคนนี้ เราเลยเริ่มต้นอ่านงานของเขาดู แล้วสิ่งที่มันโดนเรามากๆ เลย ก็คือ งานมูราคามิเป็นงานที่ไร้แก่นสาร (สำหรับเรา) ซึ่งเราดันได้อ่านมันในช่วงเวลาหลังปี 2001 ที่โลกเกิด 911, หนังสือ The End of History and the Last Man (ที่บอกว่า Liberalism คือปลายทางของมนุษยชาติและไม่มีอะไรท้าทายมันได้อีกแล้ว) ของ Francis Fukuyama ถูกท้าทาย (และเหมือนจะถูกโค่นล้ม), เราเห็นการล่มสลายของอะไรหลายๆ อย่าง (ในภาวะสมัยใหม่) … ทุกอย่างเหมือนโหมกระแทกเรา แล้วหนังสือมูราคามิก็ปรากฏตัวมาเพื่อยืนยันกับเราว่า “เราอยู่ในโลกที่ไร้แก่นสารจริงๆ”

และเรากล้าพูดว่า เราไม่ได้ชอบ Norwegian Wood มากที่สุด (ในบรรดาหนังสือของมูราคามิ เราชอบเรื่อง South of the border, West of the Sun มากที่สุด) แต่ Norwegian Wood เป็นหนังสือที่ทรงอิทธิพลต่อเรามากที่สุด (เล่มนึง)ทุกครั้งที่เราอ่านหนังสือเล่มนี้ ตัวตนและความทรงจำของเราในวัย 22 ปี จะโลดแล่นและมีชีวิตขึ้นทุกครั้ง

เรามีคำถามที่ค้างคามาตั้งแต่อายุ 22 ปี และยังไม่ได้รับคำตอบ
มันไม่ต่างกับคำถามที่ นาโอโกะ และ โทรุ มีต่อ คิซูกิ ว่า “ทำไมเขาถึงฆ่าตัวตาย”
นั่นแหละ เหตุผลที่ Norwegian Wood ทรงอิทธิพลต่อเรามาก …
เพราะเราดันรู้สึกว่า เราโคตรจะเข้าใจความสงสัยของนาโอโกะกับโทรุเลย … ให้ตายสิ

 

 

 

 

Categories
Thought

[blog] ในวันที่โลกร้ายใส่เรา

 

ช่วงนี้เมื่อสี่ปีก่อน ฉันอยู่แถวจังหวะนากาโนะ ประเทศญี่ปุ่น เป็นช่วงฤดูหนาวขาวโพลน รอบตัวเต็มไปด้วยหิมะ

ฉันเดินทางมากับชมรมสกีของมหาวิทยาลัย

เป็นทริปสกีหนแรก

ปีนั้นฉันอายุ 32 และใกล้จะขยับเข้าสู่วัย 33 อยู่รอมร่อ

ทริปสกีหนแรกดูน่าตื่นตาตื่นใจ ขณะเดียวกันหิมะที่ตกหนักทั่วภูมิภาคคันโตในปีนั้น ทำให้ฉันครุ่นคิดถึงฉากเลวร้ายต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ในชีวิต

 

เมื่ออายุมากขึ้น ฉันมักคิดถึงเรื่องเลวร้ายบ่อยๆ … จำลองสถานการณ์ว่าถ้าเกิดอะไรที่ตัวเองถือว่าเลวร้ายเกินรับได้ขึ้นจริงๆ ฉันจะทำอย่างไรกับชีวิตดี

ถ้าเกิดอุบัติเหต แล้วพิการ … ฉันจะร้องไห้ไหม และฉันจะทิ้งความฝันในการเล่นสกีไปเลยหรือเปล่า

ถ้าเกิดนั่นนี่…

ถ้าเกิดสิ่งนั้นสิ่งนี้

ถ้า
ถ้า

ถ้า

 

ฉันจะคิดลาจากโลกไหมนะ

 

สิ่งที่ฉันไม่ค่อยได้บอกใครเลยก็คือ นับตั้งแต่อายุ 30 ปี ฉันมักจินตนาการถึง worst case scenario หรือ ฉากเลวร้ายที่มีสิทธิเกิดขึ้นได้ เสมอๆ … แล้วฉันมักจะคิดต่อว่า ถ้ามันเกิดขึ้นจริง ฉันควรมองโลกด้วย “ทัศนคติ” หรือ มุมมอง แบบไหน ที่จะทำให้ฉันผ่านมันไปได้ โดยไม่จบลงที่การจบชีวิตตัวเอง

 

ก่อนมาญี่ปุ่น ฉันอ่านหนังสือของ เลน่า มาเรีย คนที่เกิดมาเกือบจะไร้แขนขา แต่เธอมองโลกในแง่ดี และกลายมาเป็นนักร้อง นักเขียน เป็นแม้กระทั่งนักกีฬาเลยด้วยซ้ำ

 

เรื่องราวเหล่านี้มักทำให้เราทึ่ง แต่สิ่งหนึ่งที่ฉันมักสงสัยคือ ถ้าฉันเจอสถานการณ์เดียวกับเธอ ฉันจะตัดสินใจต่างออกไปไหม

ฉันจะใช้ชีวิตต่ออย่างไร และอะไรที่จะทำให้ฉันเลือกไปต่อได้

แม้เรื่องเลวร้ายที่สุดจะได้เกิดขึ้นแล้ว

 

 

 

ในวันที่โลกร้ายใส่เรา อะไรที่พอจะเป็นแรงผลักดันให้เราเลือกไปต่อ

ความฝันแบบไหน

ความหวังแบบไหน

ช่วงเวลาแบบไหน

ที่ทำให้เรายังอยากผจญภัยบนโลกนี้ต่อ

 

ตอนนั้นเอง ที่ทีมโค้ชสอนสกี บอกให้พวกเราขึ้นเคเบิลคาร์ จากพื้นราบด้านล่าง เราขึ้นเคเบิลคาร์ที่ค่อยๆ ไต่ขึ้นบนเนินเขา

 

ภูเขากว้างใหญ่ หิมะขาวโพลน ลมฤดูหนาวที่พัดมาตีหน้า อยู่ๆ ฉันก็คิดว่า นี่ช่างมหัศจรรย์จังเลย

ชั่วขณะที่อยู่บนเคเบิลคาร์ กับความรู้สึกที่สัมผัสถึงความเป็นไปได้ไม่รู้จบที่อาจเกิดขึ้นได้ในชีวิต

นับตั้งแต่วันนั้น ฉันจดจำโมเม้นท์นั้นไว้กับตัว

 

เราทุกคนอาจเคยเผชิญกับโมเม้นท์เหล่านี้ ในสถานการณ์ที่แตกต่างออกไป

 

ในวันที่โลกร้ายใส่เรา

ช่วงเวลาแบบไหน

ที่ทำให้เรายังอยากผจญภัยบนโลกนี้ต่อ

 

สำหรับฉัน โมเม้นท์บนเคเบิลคาร์ในทริปสกี คือหนึ่งในช่วงเวลานั้น

 

 

1619545_10151985461983235_2138375717_n (1)

Categories
daily discover Thought

เหนือกว่าที่คาดไว้

[series ว่าด้วยการงาน และสิ่งที่ได้เรียนรู้ #1]

“เหนือกว่าที่คาดไว้”

ขออนุญาตเล่าเรื่องส่วนตัวหน่อยนะคะ

เราเพิ่งสั่งพิมพ์โปรเจ็กต์อะไรบางอย่างกับทางโรงพิมพ์ชื่อ “ภาพพิมพ์” ไปค่ะ
จริงๆ แล้ว นับจากเริ่มทำโปรเจ็กต์กับภาพพิมพ์ ตั้งแต่หนังสือ on demand พิมพ์ครั้งที่ 1 ไปจนหนังสือพิมพ์ครั้งที่ 2 และมาถึงโปรเจ็กต์พิเศษนี้

โรงพิมพ์ภาพพิมพ์ได้ให้บทเรียนที่สำคัญหนึ่งของการทำงานแก่เราอย่างมาก
ทุกครั้งของการส่งงาน ถ้าเราสั่งผลิตสินค้าจำนวนเท่านี้ไป ภาพพิมพ์จะมีสินค้ามาแถมให้มากกว่าที่สั่งผลิตไปเสมอ

ครั้งแรกตอน on demand เราก็คิดว่า “โอ้ว ดีจัง”
ครั้งที่สอง ตอนพิมพ์ครั้งที่ 2 เราก็คิดว่า “อ๋อ พิมพ์เยอะขึ้น คงแถมเพราะพิมพ์เยอะขึ้นแหละ”
ครั้งที่สาม โปรเจ็กต์พิเศษ สั่งผลิตน้อยมาก โดยไม่ได้คาดหวังอะไร แต่เมื่อเจอซองที่ภาพพิมพ์ผลิตแถมมาให้ ก็แอบรู้สึกถึงคำว่า “เหนือกว่าที่คาดไว้” ขึ้นมาทันที

คำแนะนำจากกูรูฝั่งตะวันตกสักคน เคยพูดไว้ “deliver beyond expectation” ตอนอ่านเจอ เราไม่ได้คิดอะไรกับประโยคนี้ต่อ

จนมาเจอกับการทำงานของภาพพิมพ์ ที่ “เหนือกว่าที่คาดไว้” ก็เลยรู้สึกว่า มันคือสิ่งนี้สินะ ที่กูรูคนนั้นพูดไว้

ความรู้สึกที่ได้รับ ความเหนือคาด มันจะเป็นอะไรที่จะฝังแน่นในใจคนรับอย่างยาวนาน

ในประเด็นเรื่องความสัมพันธ์, เราไม่แน่ใจนักว่า แท้จริงแล้ว คนเราควรให้อะไรที่ “เหนือกว่าที่คาดไว้” ดีไหม

ในแต่การทำงาน,​ เราค่อนข้างมั่นใจ

คนที่ “deliver beyond expectation” มักเป็นคนที่พวกเราจะจดจำเขาในแง่ดีเสมอ

และเราย่อมอยากทำงานกับเขาอีก
ซ้ำๆ เรื่อยไป อย่างแน่นอน

#Work#Life#Lesson

sakura-cover-1-draft cv

Categories
Thought

เดินเล่นกับความทรงจำ

“เดินเล่นกับความทรงจำ”

แปลกดี ทั้งๆ ที่ประเทศโลกที่ 1 จำนวนไม่น้อยล้วนมีระบบขนส่งทางรางที่ดีงาม แต่เมื่อนึกถึงรางรถไฟ และความโรแมนติก ฉันมักคิดถึงรางรถไฟในญี่ปุ่นเสมอ

อืม จริงๆ ก็ไม่ใช่ทุกรางรถไฟในญี่ปุ่นหรอกนะที่ดูโรแมนติกน่ะ
เพียงแต่ฉันมีสถานที่แห่งความลับแห่งหนึ่งที่ชื่นชอบในโตเกียว ซึ่งฉันยังไม่เคยบอกใครมาก่อน

อืม … เขียนผิดอีกล่ะ ฉันเคยบอกไปแล้วสามครั้ง กับคนสี่คน ต่างกรรมต่างวาระกัน

สถานที่แห่งความลับแห่งนั้น คือเนินข้างรางรถไฟ ที่มีสะพานลอยอยู่ข้างๆ พื้นที่จะอยู่ใกล้ๆ สถานี JR Nippori แต่ไม่ใช่สะพานใหญ่ตรงสถานีรถไฟเลยนะ เป็นสะพานย่อยอีกอันหนึ่ง โดดเดี่ยวออกมา แต่เป็นเส้นทางสัญจรเช่นกัน เพราะมันเชื่อมย่านนิปโปริเข้ากับสุสานแห่งหนึ่ง สุสานแห่งนั้นชื่อ สุสานยานากะ

ตรงสุสานนั่นมีต้นซากุระอยู่จำนวนมาก แต่ต้นที่ฉันชอบที่สุดจะอยู่ตรงเนินที่ติดกับรางรถไฟ ทุกปีเวลาที่ซากุระต้นนี้เบ่งบาน ฉันมักรู้สึกเสมอว่า มันเป็นความงามที่งอกเงยโดยมีความทรงจำของผู้คนคอยหล่อเลี้ยง

ก็บริเวณนั้นเป็นสุสานนี่นา … ความทรงจำของคนที่จากไป อาจจะกลายเป็นปุ๋ยคอยหล่อเลี้ยงต้นซากุระก็ได้นะ

ฉันคิดว่าต้นซากุระนี้โรแมนติกดี พอๆ กับที่คิดว่า สุสานที่อยู่เคียงข้างกับรางรถไฟก็โรแมนติกแบบประหลาด
มันเป็นความไม่ลงรอยที่ฉันชอบขนาดแอบทำลิสต์ส่วนตัวว่า นี่คือสถานที่ซึ่งเหมาะกับการเดทมากที่สุดในโตเกียว

“เดทกันที่สุสานที่อยู่ข้างรางรถไฟนี่นะ?” น้องคนหนึ่งทำเสียงตกใจนิดหน่อยตอนที่ฉันเล่าถึงความคิดก้อนนี้ให้ฟัง

อืม…ฉันไม่เคยมีประสบการณ์เดทที่สุสานหรอก แต่ฉันชอบพื้นที่ตรงนี้มาก ในวันที่เกิดคำถามหรือต้องการคุยกับตัวเอง ฉันมักจะเดินมายังพื้นที่ตรงนี้ เดินขึ้นสะพานลอย หยุดยืนอยู่ตรงกึ่งกลาง จ้องรางรถไฟ ดูรถไฟหลากหลายแบบที่เคลื่อนที่ผ่านไป ฟังเสียงรถไฟ และจินตนาการถึงจุดหมายของผู้คนที่อยู่บนขบวนรถไฟเหล่านั้น

ตอนที่อยู่โตเกียว, ฉันเคยพาคนสี่คนไปยังพื้นที่แห่งนี้

คนแรกสุด คือ แดน, ใช่ แดนคนเดียวกับที่อยู่ในหนังสือ “ซากุระ, ซาโยนาระ” นั่นแหละ
วันนั้น หลังจากกินราเมงร้าน Tetsu เสร็จแล้ว แดนถามว่าพื้นที่ไหนของโตเกียวที่ฉันชอบที่สุด ฉันเพิ่งมาถึงโตเกียวได้ไม่ถึงสามสัปดาห์ ไม่ค่อยรู้จักที่ไหน แต่จำได้ว่าตอบไปว่า ฉันชอบมายืนฟังเสียงรถไฟใกล้ๆ สุสานยานากะ

แดนอยากมาเห็นบ้าง ฉันก็เลยเดินพาแดนไป มันมืดแล้วล่ะ แต่สุสานก็ไม่ได้น่ากลัวอะไร ยังมีผู้คนเดินไปเดินมา ทั้งเด็กเล็ก คนหนุ่มสาว คนทำงาน คนชรา ฉันจำไม่ได้แล้วว่าวันนั้นคุยอะไรกับแดนไปบ้าง จำได้แค่ว่า ฉันถ่ายวิดีโอที่รถไฟแล่นผ่านเก็บไว้ มีเสียงตอนที่เราคุยกันแทรกอยู่ในวิดีโอนด้วย แต่เสียงมันก็เบาบางและกระจัดกระจายมาก จนฟังไม่ได้ศัพท์เลยทีเดียว

วันนั้นเป็นวันสุดท้ายที่แดนอยู่ที่บ้านพักรวมซากุระเซนดากิ วันรุ่งขึ้นแดนก็จากไป

กลุ่มที่สองที่ฉันพาไปยังเนินสุสานที่ติดกับรางรถไฟก็คือ นิริน กับ หยดหยาด ทั้งสองเป็นสมาชิกของบ้าน TVXQ! Meeting ในพันทิป อาจฟังดูประหลาดหน่อยนึงว่าเรารู้จักกันได้ยังไง แต่ฉันรู้จักนิรินก่อน แล้วนิรินก็ชวนหยดหยาดมาเที่ยวย่านยานากะ ตอนนั้นเป็นช่วงกลางฤดูใบไม้ผลิ ซากุระโรยราแล้ว แต่ดอกไม้อื่นก็เบ่งบานงดงาม เหมือนว่าหยดหยาดจะเป็นคนชอบสุสานมั้ง ฉันเลยพานิรินกับหยดหยาดมาที่สุสาน และพาเดินไปตรงเนินข้างๆ รางรถไฟนั้น

“เป็นหนึ่งในสถานที่ที่ฉันชอบที่สุดในโตเกียว” จำได้ว่าบอกออกไปอย่างนี้

กลุ่มสุดท้าย คนสุดท้ายที่ฉันพาไปเยือน พร้อมเล่าเรื่องนั่นนี่ยาวเหยียดให้ฟังก็คือน้องคนหนึ่งที่มาอยู่ญี่ปุ่นก่อนฉันเสียอีก เพียงแต่เธอปักหลักที่เกียวโตมาก่อน และไม่ค่อยคุ้นเคยกับโตเกียวมากนัก (ในตอนนั้น)

ฉันพาน้ำหวานไปที่สถานที่แห่งความลับของฉัน ในวันที่ 5 ก.ย. 2015 สองวันสุดท้ายก่อนที่ฉันจะบินกลับเมืองไทย

เป็นน้ำหวานนี่เอง ที่ฉันเผยความลับให้ฟังว่า นี่คือสถานที่ที่ฉันคิด (เอาเอง) ว่า เหมาะกับการเดทมากที่สุดในโตเกียว

มันอาจจะฟังดูเพี้ยนๆ หน่อย แต่ฉันชอบองค์ประกอบของ “สุสานที่อยู่บนเนินข้างรางรถไฟ และมีสะพานลอยที่พาเราข้ามไปสู่ย่านนิปโปริ” มาก

มากในระดับที่ว่า ถึงตอนนี้ ถ้ามีใครเดินมาถามว่า สถานที่ที่ซึ่งฉันชอบมากที่สุดในโตเกียวคือที่ไหน

ฉันจะตอบไปว่า

คือที่นั่น

และสถานที่ไหนที่ฉันอยากกลับไปเดินเล่นอีก

ก็คือที่นั่น

อยากกลับไปเดินเล่นกับความทรงจำ

พลางฟังเสียงรถไฟที่ค่อยๆ แล่นจากรางไป

พลางจินตนาการถึงความทรงจำหลากหลายที่ถูกกลบฝังอยู่ในสุสานแห่งนั้น

ที่นั่น

นั่นเอง

 

IMG_0761