Categories
experience Seen Thought

[documentary film] Boundary – ฟ้าต่ำ แผ่นดินสูง

 

Screen Shot 2018-09-22 at 3.33.07 PM

Boundary – ฟ้าต่ำ แผ่นดินสูง (นนทวัฒน์ นำเบญจพล/2013/ไทย)

ได้ดูสักที
ทั้งที่อยากดูตั้งแต่ตอนออกฉาย แต่จำไม่ได้ว่าทำไมถึงไม่ได้ดู … เหมือนจะอยู่บ้านนอก หรือไปญี่ปุ่นแล้วนี่แหละ (แต่หนังเข้าฉาย เมษายน 2013 รึเปล่า…นั่นยังไม่ได้ไปญี่ปุ่นเลยนะ)

แต่นั่นแหละ ได้ดูแล้ว

หลังจากสารคดีเรื่องนี้ฉายมา 5 ปี พอย้อนกลับมาดูในช่วงที่กระแสความขัดแย้งจากกรณีเขาพระวิหาร -ที่ถูกขับด้วยลัทธิชาติยมเป็นหลัก- ซาลงไป (หมายถึงความร้อนแรงของความขัดแย้งซาลงไป ไม่ใช่ลัทธิชาตินิยมซาไป) ก็พบว่า ตัวเองไม่ได้อินกับสารคดีมาก (ทั้งๆ ที่ตัวเองก็เป็นคนอีสาน) และเอาเข้าจริง ตัวสารคดี ก็ไม่ได้ถูกสร้างมาเพื่อให้ใครอินอยู่แล้วมั้ง (เหมือนจะเป็นเช่นนั้นนะ)

ถ้าให้เล่าถึงเมนไอเดียของสารคดี คงต้องบอกว่า มันคือหนังสือ Imagined Community ของ อ.เบน แอนเดอร์สัน นั่นแหละ (และแน่นอน มีเครดิต อ.เบน อยู่ท้ายเรื่อง) มันคือการพยายามทำความเข้าใจเรื่องพรมแดนของความขัดแย้ง – ทั้งความขัดแย้งตรงพรมแดนเขาพระวิหาร และความขัดแย้งในวิกฤตการเมืองไทย (เสื้อเหลืองเสื้อแดง) นั่นแหละ – ซึ่งผู้กำกับเลือกเล่าผ่านตัวละครเล็กๆ โดยเฉพาะชาวบ้านและทหารในพื้นที่ทั้งสองฝั่ง

แต่สารคดีก็ไม่ได้สืบค้นถึงรากลึกของปัญหาอะไร เพราะนั่นไม่ใช่สารหลักที่จะสื่ออยู่แล้ว มันคือการพยายามมองมาจากคนนอก (เพราะผู้กำกับเป็นคนกรุงเทพฯ = คนนอกอยู่แล้ว) ซึ่งไม่ได้อยู่ใกล้พื้นที่ซึ่งมีเสียงปืนเสียงระเบิด ที่น่าสนใจคือ ปัญหาที่ชายแดนเขาพระวิหาร ก็เป็นปัญหาที่ไม่ได้ก่อขึ้นโดยคนในพื้นที่ด้วยซ้ำ ปัญหาที่ถูกจุดให้ร้อนแรงอีกครั้งในช่วง 2011 ที่มีการปะทะกัน เกิดขึ้นจากคนนอกพื้นที่…คนที่รู้สึกว่า “จะเสียเอกราชไทยให้เขมรไม่ได้”

สารคดีแนะนำเราให้รู้จักกับอ๊อด ทหารเกณฑ์ที่กำลังจะปลดประจำการ เขาได้รับสิทธิ์พักร้อนกลับบ้านช่วงสงกรานต์ บ้านของอ๊อดอยู่ตรงจุดที่มีปัญหาพิพาทนั่นแหละ ศรีษะเกษ (สะกดอย่างนี้ใช่ไหม) จริงๆ อ๊อดมีความน่าสนใจ แต่เนื่องจากตอนนี้หิว ขี้เกียจเขียนยาว ทิ้งมันไว้ตรงนี้แหละ อ้าว

นอกจากอ๊อด เราได้รู้จักพ่ออ๊อด รู้จักชาวบ้านที่ต้องอพยพเมื่อเกิดการปะทะ รู้จักคนที่สูญเสียบ้านเพราะระเบิดลง (บ้านทั้งหลังที่เก็บเงินมาสร้าง) รู้จักคนที่เสียสามีเพราะระเบิดลง (ฝ่ายภรรยาเล่าถึงด้วยท่าทีไม่ดราม่าเลยแม้แต่น้อย แต่นั่นยิ่งทำให้คนดูรู้สึกถึงความดราม่ามากขึ้น) ทหารแถวๆ นั้น ทั้งไทยและเขมร …​ในพาร์ทเขมร (กัมพูชา) ผู้กำกับเล่าถึงนอกรอบ (เหมือนจะเล่าในเฟซบุ๊ก-เคยอ่านผ่านตาตอนนั้น) ว่าต้องปลอมตัวเป็นชาวต่างชาติ (แนวๆ จีน เกาหลี ญี่ปุ่น นี่แหละ) เข้าไปขอสัมภาษณ์ เพราะตอนนั้นถ้าบอกว่าเป็นคนไทย … เละแน่ๆ

สิ่งที่น่าสนใจจริงๆ สำหรับเราก็คือ … หลายครั้งที่งานซึ่งสำรวจประเด็นในเชิงนี้ (เชิงไหนหว่า…เออ นั่นแหละ) มักเป็นผลงานของคนที่ไม่ได้เรียนรัฐศาสตร์มาโดยตรง (ผู้กำกับเรียนออกแบบนะถ้าจำไม่ผิด) แต่เป็นการต่อยอดจากความสนใจ ก้าวข้ามพรมแดน (แน่ะ…​ boundary) ของความรู้เฉพาะสาขาหนึ่งๆ ไปสู่สาขาหนึ่งๆ ปะทะสังสรรค์และเล่ามันออกมา ด้วยความสนใจใคร่รู้

สิ่งที่เรา-ในฐานะเด็กรัฐศาสตร์-สนใจหลังจากดูสารคดีเรื่องนี้จบลง คงเป็นประเด็นที่ว่า … เราอยากรู้ว่า มีคนสาขารัฐศาสตร์หรือสาขาแนวๆ นี้ ได้ถ่ายทอดหรือเล่าถึงเรื่องนี้ในเชิงสารคดี หรือเรื่องเล่า (อาทิ หนังสั้น / อนิเมชั่น) ไว้บ้างไหม ในการมองเรื่องพิพาทเขาพระวิหาร ถ้าเราไม่มองจากมุมของ Imagined Community ของ อ.เบน แอนเดอร์สัน รวมถึงไม่มองจากสายตาของลัทธิชาตินิยม มันจะเลือกเล่า หรือมองได้จากอะไรอีกบ้าง

อ๊ะ ลืมให้คะแนน

8.5/10

สามารถเช่าดูออนไลน์ (48 ชม.) ได้ที่ Vimeo ในราคา 6$ (ประมาณ 180 บ.)

ลิงก์เช่าหนัง – https://vimeo.com/ondemand/boundary/135178142